กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--พม.
เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ค.๕๕ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน พิธีเปิดโครงการ “ร่วมแรงรวมพลัง ยับยั้งขบวนการค้ามนุษย์” ครั้งที่ ๓ ภายใต้ “โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปี ๒๕๕๕” ณ โรงแรมรสา บูทิค เชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการค้าเด็ก สตรี หรือแรงงาน ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการหลายรูปแบบเพื่อหาแนวทางแก้ไขทั้งมาตรการด้านนโยบาย มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคม และมาตรการทางความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปัจจุบันยังคงไม่หยุดนิ่ง แม้จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา แต่การค้ามนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลากหลายเพิ่มขึ้น คือ การค้าบังคับประเวณี หรือการบังคับให้เด็กเป็นขอทาน ส่วนรูปแบบใหม่ที่พบ คือ การอุ้มบุญ การหลอกให้แต่งงานกับชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มแรงงานชายไทยที่ถูกบังคับให้ไปเป็นแรงงานประมงจำนวนมาก ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่เป้าหมายอีกจังหวัดหนึ่งที่กระทรวงฯได้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านการค้ามนุษย์เรื่อยมา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีด้านการท่องเที่ยว จึงทำให้มีประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามา นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยมักถูกหลอกลวงให้ไปค้าประเวณีเป็นจำนวนมาก นับเป็นพื้นที่ที่เป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน ที่นักค้ามนุษย์มักใช้เป็นพื้นที่ในการแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ ในรูปแบบของการหลอกลวงให้ไปค้าประเวณี หลอกให้ไปเป็นแรงงาน และเป็นพื้นที่ปลายทางที่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านถูกหลอกให้มาเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า กระทรวงฯมีหน้าที่ในการฟื้นฟูและคุ้มครองเยียวยาผู้ประสบปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการป้องกัน โดยเป้าหมายแรกต้องการให้ประชาชนรู้และตระหนักในการเฝ้าระวังตนเอง และเป็นผู้แจ้งเบาะแสเมื่อเกิดภัย โดยได้มีการจัดเวทีสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆที่เป็นพื้นที่เสี่ยง การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน หรือการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ใช้โทรศัพท์สายด่วนศูนย์ประชาบดี ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเบาะแสหรือแจ้งเหตุของการค้ามนุษย์ ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และกลายเป็นประเด็นปัญหาระดับ “ระหว่างประเทศ” ซึ่งในแต่ละประเทศต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เห็นความสำคัญของสื่อมวลชนในการเป็นกระบอกเสียงกระจายข่าวสารต่างๆซึ่งประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่ให้ความตระหนัก ดังนั้น การสร้างพลังแห่งการตระหนักรู้ และบอกต่อ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้มีอยู่ทุกพื้นที่ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเองสำหรับผู้ที่ได้รับรู้ และเป็นการบอกต่อ ในการขยายพลังเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น
นายปรีดา กุณามา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดกิจกรรที่จังหวัดเชียงราย ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งใน “โครงการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ที่จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พ.ค.๕๕ โดยครั้งที่ ๑ จัดแล้ว ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ เม.ย.๕๕ และครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ พ.ค.๕๕ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความตระหนัก และกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และเข้าร่วมเป็นเครือข่ายป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ได้นำไปใช้ในการผลิตและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม “การอบรมครั้งนี้ กระทรวงฯได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อดูสถานการณ์จริงในบริเวณชายแดน อำเภอเชียงแสน เพื่อศึกษาเส้นทางการเข้า/ออกประเทศ และศึกษาดูงานศูนย์ประสานงานชายแดน เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย/เมียนมาร์ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก เพื่อดูสถานการณ์ วิธีการการประสานงาน และการให้ความช่วยเหลือ เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางในการนำเสนอข่าวสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเครือข่ายรับรู้ เข้าใจตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป” นายปรีดา กล่าว.