กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--Neotarget
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ สนช.ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ระบบบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร” (Total Innovation Management; TIM) และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการวางรากฐานระบบบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร เพื่อร่วมกันวางรากฐานระบบบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กรให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการไทยเกิดความมั่นใจในเครื่องมือบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร ว่าจะสามารถสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรได้อย่างมีทิศทางต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “ที่ผ่านมาระยะเวลา 8 สนช. ได้สนับสนุนโครงการนวัตกรรมเป็นจำนวน 800 โครงการ ด้วยวงเงินสนับสนุนรวมประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นถึง18 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของผู้ประกอบการไทย ในการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมบนฐานของความคิดสร้างสรรค์ หรือบนฐานของความรู้จากการต่อยอดงานวิจัยหรือทรัพย์สินทางปัญญาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนและร่วมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม”
“แม้ว่า สนช. จะได้ริเริ่มและพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมของประเทศมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่การพัฒนาในระยะต่อไปของ สนช. มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องมือใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาบริษัทให้สามารถสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมที่แข็งแกร่งภายในองค์กร ไปพร้อมกับการสร้างวิสัยทัศน์และความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องการความแตกต่างและความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง ไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่อง”
สนช. จึงได้ริเริ่มพัฒนา “TIM” ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือการบริหารจัดการรูปแบบใหม่สำหรับองค์กร ที่จะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพซึ่ง สนช. ได้เริ่มต้นพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กรขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง ต่อมาได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในการพัฒนาและแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และกลยุทธ์ในการพัฒนาเครื่องมือ TIM ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการสร้างผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศทั้งด้านการเพิ่มผลิตภาพและด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมควบคู่กันไปได้อย่างรวดเร็ว
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า “นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความผูกพันอย่างยิ่งกับการเพิ่มผลิตภาพ ในการส่งเสริมและผลักดันองค์กรให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การเพิ่มผลิตภาพถือเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือหรือกระบวนการเหล่านี้ในการปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่สถาบันมีส่วนส่งเสริมและผลักดันให้เกิดขบวนการเพิ่มผลิตภาพ และได้ข้อสังเกตว่าการปรับปรุงองค์กรโดยการใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่สามารถทำให้องค์กรได้ประโยชน์อย่างแท้จริงในระยะยาว แต่การพัฒนา “ระบบบริหารจัดการ” ต่างหากจึงจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน สถาบันมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ โดยได้สนับสนุนโครงการนี้ด้วยการเชิญ Mr.Lim Boon Whatt ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมผ่านความร่วมมือจากองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO และส่งวิทยากรที่ปรึกษาและทีมงานจากสถาบันเข้ามาสนับสนุนโครงการด้วย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล”
ดร. วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช. กล่าวว่า “ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เครื่องมือ TIM ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยยึดเอากรอบแนวทางการบริหารจัดการนวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติจาก Business Excellence Niche Standard Innovation ของหน่วยงานStandards, Productivity and Innovation for Growth(SPRING) ประเทศสิงคโปร์และ The EFQM Framework for Innovation ของหน่วยงาน European Foundation for Quality Management (EFQM) ของทางยุโรป เพื่อใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ ร่วมกับผลการวิเคราะห์และประเมินองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมในประเทศไทย รวมถึงการปรับแนวทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับโครงการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) เพื่อให้องค์กรทั่วไปสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น จนเกิดเป็น “คู่มือเกณฑ์ประเมินระบบบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร” และ “กรอบการสร้างความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม” ที่มีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับบริบทขององค์กรในประเทศ
กรอบการสร้างความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม จะแสดงความเชื่อมโยงและการบูรณาการเชิงระบบของ 6 องค์ประกอบหลัก
ที่ใช้เป็นเกณฑ์การวัดความสามารถด้านนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนกล่าวคือผู้นำ (Leadership) จะเป็นแรงผลักดันไปสู่ระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบด้านกลยุทธ์ (Strategy) ความรู้ (Knowledge) และพนักงาน (People) ทั้งนี้องค์ประกอบหลักทั้งสามต้องได้รับการวางทิศทางที่ดีจากผู้นำและเกิดขึ้นควบคู่กันเชื่อมโยงกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการนวัตกรรม (Process) และนำไปสู่ผลลัพธ์ นั่นคือ ผลการดำเนินงานนวัตกรรมจากทุกมุมมอง (Result) ทั้งในด้านการปฏิบัติงาน พนักงาน ลูกค้า การเงิน และความรับผิดชอบต่อสังคม
ดร. วันทนีย์ จองคำ กล่าวสรุปว่า “TIM ไม่ใช่เครื่องมือที่จะนำมาใช้แทนที่ระบบคุณภาพ แต่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของการบริหารจัดการยุคใหม่ได้อย่างลงตัว เนื่องจากเครื่องมือการบริหารจัดการส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น มุ่งเน้นที่การเพิ่มผลิตภาพ หรือการสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการผลิตเท่านั้น ในขณะที่ TIM มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความแตกต่างเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรังสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องได้เป็นระบบ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการในตัวเอง เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการสร้างกรอบ กฎเกณฑ์ และการวัดผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ อันมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกำหนดให้นวัตกรรมเป็นภารกิจหลักที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญสูงสุด และขับเคลื่อนทรัพยากรพร้อมวัตถุประสงค์ขององค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้น โดย สนช. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา TIM ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบนวัตกรรมของประเทศต่อไป”
ติดต่อ:
พลอยไพลิน ตองอ่อน โทรศัพท์ 02-631-2290-5 ต่อ 310
อีเมล์ ploypailin@neotarget.com