กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
มิวเซียมสยาม เปิดพื้นที่ให้ “เด็กเฟี้ยว” สุดยอดนักคิดเจ้าของรางวัล Young Muse Project โครงการ 2 จัดนิทรรศการ “Please Mind The Gap โปรดระวังห้องว่างระหว่างเรา สร้างสถานการณ์ 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ นำผู้ชมย้อนอดีตหาตัวตนคน 3 ยุค ลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของครอบครัวยุคสังคมออนไลน์
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เผยว่า นิทรรศการ Please Mind The Gap โปรดระวังห้องว่างระหว่างเรา เป็นผลงานของทีมเฟี้ยว นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก Young Muse Project โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธ์สยามครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะทำหน้าที่สานต่อและขับเคลื่อนงานด้านพิพิธภัณฑ์ทดแทนคนรุ่นเก่าได้โดยไม่ขาดช่วง
“โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม หรือ Young Muse Project เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ นำไปสู่การต่อยอดคิดผลิตผลงานที่น่าสนใจ อีกทั้งประเทศไทยจะได้มีคนทำงานด้านพิพิธภัณฑ์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝัง ส่งเสริมทัศนคติให้คนรุ่นใหม่รักและสนใจหาความรู้ในพิพิธภัณฑ์ และเห็นความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ ในการผลิตผลงานที่น่าสนใจได้ในอนาคต” ผอ.ราเมศกล่าว
นิทรรศการ Please Mind The Gap โปรดระวังห้องว่างระหว่างเรา ได้นำประเด็นเรื่องประสบการณ์ของคนต่างวัยที่มีความแตกต่างกัน 3 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุค 60s และยุคปัจจุบัน มาสร้างการเรียนรู้ผ่านมุมมองของ “ห้องนอนและห้องน้ำ” ของคน 3 ยุคนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและลดช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งในสังคมครอบครัวยุคปัจจุบันกำลังประสบปัญหาแตกแยกที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว
นายไท ประดิษฐเกษร นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หัวหน้าทีมเฟี้ยว อธิบายว่า นิทรรศการ Please Mind The Gap โปรดระวังห้องว่างระหว่างเรา สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมเรื่องความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อกับลูกในยุคปัจจุบัน โดยเนื้อหาของนิทรรศการต้องการให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจว่า ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยมีสาเหตุเกิดจากอะไร ไม่ใช่บอกว่าใครถูกหรือใครผิด
“ปัญหาความไม่เข้าใจกันของพ่อลูกในทุกวันนี้ เป็นเพราะต่างคนต่างยึดถือแต่ความคิดของตนเองเป็นหลัก โดยไม่รับฟังความคิดของคนอื่น และไม่พยายามทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดอีกฝ่ายถึงคิดตรงกันข้าม นิทรรศการครั้งนี้จะทำให้ลูกเข้าใจเหตุและผลของมุมมองต่างๆ ของพ่อ และพ่อก็จะเข้าใจในความคิดและมุมมองของลูกเช่นกัน” นายไทอธิบาย
นายพัฒน์ ดีสวัสดิ์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา สมาชิกทีมเฟี้ยว เล่าถึงรูปแบบการจัดนิทรรศการว่า นิทรรศการใช้วิธีเล่าเรื่องโดยการจำลองสถานการณ์สำคัญที่บ่งบอกถึงยุคสมัยต่างๆ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุค 60s และยุคปัจจุบัน ไว้ภายในห้องนอนและห้องน้ำที่ตกแต่งด้วยของใช้ในยุคนั้นจริงๆ พร้อมทั้งมีเสียงประกอบให้สถานการณ์ดูสมจริงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วม หากผู้ชมเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาก่อน ภาพความทรงจำในอดีตจะปรากฏชัดเจนในความรู้สึกนึกคิด
“เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยมักเป็นเครื่องหล่อหลอมคนในยุคนั้นเสมอ ดังเช่นห้องแรกเป็นห้องสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นรุ่นคุณปู่ ในยุคนั้นทุกคนต้องอยู่อย่างแร้นแค้น กินนอนร่วมกันในบ้านที่ปิดทึบท่ามกลางภาวะสงคราม สิ่งที่พูดคุยกันในครอบครัวคือเรื่องการทำมาหากิน แม้ลูกจะต้องทำตามคำสั่งของพ่อ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนทุกข์ใจ เพราะเป็นสิ่งที่ครอบครัวในยุคสมัยปฏิบัติเหมือนๆ กัน โดยในห้องนอนของยุคนี้จะตกแต่งด้วยเสื่อ จานข้าว สื่อถึงวิธีการดำเนินชีวิต หน้าต่างปิดทึบ หากมองส่องออกไปจะเห็นภาพสงคราม มีเสียงเครื่องบินและเสียงระเบิดประกอบ แต่เมื่อผ่านห้องน้ำและก้าวเข้าสู่ห้องนอนที่ 2 ในยุค 60s จะปรากฏรูปแบบวิถีชีวิตที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ตกแต่งด้วยโปสเตอร์วงเดอะบีทเทิล มีบรรยากาศของการเรียกร้องประชาธิปไตย และเมื่อเดินเข้าห้องนอนสุดท้ายจะกลับพบรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย ซึ่งบ่งบอกถึงตัวตนของเด็กสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี” นายพัฒน์กล่าว
ทางด้าน นายพล ดีสวัสดิ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขามัลติมีเดีย สมาชิกทีมเฟี้ยว อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้ชมเดินผ่านห้องนอนและห้องน้ำครบทั้ง 3 ยุคแล้ว จะไปสิ้นสุดที่ห้องฉายภาพยนตร์สั้นซึ่งถ่ายทำจากในห้องต่างๆ เป็นเรื่องราวการดำเนินชีวิตของพ่อกับลูกในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเฉลยว่าข้าวของเครื่องใช้ที่จัดวางในห้องต่างๆ หรือเสียงประกอบ บ่งบอกถึงเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
“นิทรรศการกำหนดให้ห้องนอนและห้องน้ำคือภาพ ส่วนภาพยนตร์สั้นคือคำบรรยายใต้ภาพ เมื่อผู้ชมได้ชมนิทรรศการจนจบก็จะรู้ว่า ความคิดและพฤติกรรมของพ่อและลูกในแต่ละยุคสมัยมีปัจจัยแวดล้อมเป็นเครื่องหล่อหลอม ปัญหาความไม่เข้าใจกันจึงไม่ได้เกิดจากใครผิด แต่เป็นเพราะคนในแต่ละยุคล้วนมีความคิดและเหตุผลที่หล่อหลอมประสบการณ์สำคัญในยุคของตนเอง เมื่อพ่อและลูกหรือคนต่างวัย เข้าใจถึงตัวตนของอีกฝ่ายมากขึ้น คำว่าใครถูกใครผิดก็จะหมดไป กลายเป็นความเข้าใจกันมากขึ้น” นายพลสรุป
“นับเป็นความภาคภูมิใจของมิวเซียมสยาม ที่สามารถกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ นำไปสู่การต่อยอดคิดผลิตผลงานที่น่าสนใจได้ และในปี 2555 นี้ Young Muse Project โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 3 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว น้องเยาวชนและนักศึกษาที่สนใจร่วมสัมผัสประสบการณ์งานด้านพิพิธภัณฑ์ซึ่งมิวเซียมสยามจะพาไปเปิดโลกทัศน์ใหม่ไกลถึงฮ่องกง ขอให้ติดตามข่าวกันอย่างใกล้ชิด” ผอ.ราเมศ กล่าวสรุป
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 17 — 31 พฤษภาคม 2555 เวลา 10.00 — 18.00 น. ที่มิวเซียมสยาม ท่าเตียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-2252777 ต่อ 411 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.com