กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ก.ไอซีที
นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดทำกรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่า ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของรัฐบาล รัฐสภา ประชาชน และ กสทช. ให้ชัดเจนขึ้น และภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ กสทช.ต้องมีการจัดทำแผนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนบริการดังกล่าวให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
“และเพื่อให้การดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปตามบทบาทที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินนโยบายด้านโทรคมนาคมของประเทศไทยในสภาพแวดล้อมปัจจุบันและอนาคตเป็นไปอย่างมีทิศทางที่เหมาะสม ตลอดจนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะหน่วยงานฝ่ายบริหารที่ดูแลนโยบายด้านการสื่อสารของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดทำกรอบนโนบายโทรคมนาคมแห่งชาติขึ้น” นางเมธินี กล่าว
โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินการศึกษาวิจัยในโครงการ “กรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติ” ที่ครอบคลุมทั้งระยะกลาง 3 - 5 ปี และระยะยาว 10 ปี ซึ่งได้มีการวางเป้าหมายของกรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติเอาไว้ คือ 1. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศด้วยการลดต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจต่างๆ ทั้งอัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยเป็นอันดับที่สองของภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2557
2. เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งระบบมีสายและไร้สายให้สูงขึ้นโดยรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าระดับ ร้อยละ 35 ของประชากร ในปี 2557 และร้อยละ 70 ของประชากร ในปี 2564 รวมทั้งสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสื่อสารที่สำคัญ และบริการโทรศัพท์ฉุกเฉินอย่างเท่าเทียม 3. สร้างกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านการเปิดเผยข้อมูล การกำกับดูแลคุณภาพ และอัตราค่าบริการ และ 4. วางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคาม และสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้
“หลังจากที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวแล้ว จึงได้มีการจัดสัมมนาขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาการจัดทำกรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมทั้งนำเสนอร่างกรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติ ตลอดจนเปิดรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นเหล่านั้น ไปใช้ในการปรับปรุงร่างกรอบนโยบายโทรคมนาคมแห่งชาติให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดย ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคไปแล้ว 2 ครั้ง ที่จังหวัดนครราชสีมา และที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” นางเมธินี กล่าว