กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์
“วิชาภาษาไทย” เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระวิชา ถ้าเด็กนักเรียนอ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ รวมไปถึงการคิดวิเคราะห์ในการเรียนวิชาอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
“โรงเรียนบ้านน้ำยาว” ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเด็กนักเรียน “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” ทำให้ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยท่านหนึ่งพยายามหาหนทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะตระหนักดีว่าภาษาไทยนั้นมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก จึงได้จัดทำ “โครงการพี่สอนน้อง” ขึ้นจนส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนทั้งหมดดีขึ้น โดยยืนยันได้จากผลการสอบโอเน็ตของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวิชาภาษาไทย โดยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของเขตพื้นที่ทางการศึกษาในปี 2551 และได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ในปีถัดมา
“ครูทัศนีย์ จันทโคตร” ครูสอนดีจากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงโครงการพี่สอนน้องที่เข้ามาช่วยเสริมและเติมเต็มการเรียนรู้ภาษาไทยให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งนี้ว่า เกิดมากจากปัญหาเด็กนักเรียนอ่านไม่คล่องและเขียนไม่คล่องซึ่งเป็นปัญหาสำหรับครูผู้สอนและตัวของเด็กนักเรียนอย่างมาก
“โครงการนี้จะให้เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 สอนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนระหว่างที่ผู้ปกครองมารอรับเด็กก็จะใช้เวลาตรงนี้ เพราะว่าพี่ก็ว่างน้องก็ว่าง วิธีการคือให้น้องอ่านหนังสืออะไรก็ได้อย่างน้อย 1 วันจะต้องได้อย่างน้อยหนึ่งหน้ากระดาษ แล้วให้เลือกเรื่องที่ชอบมากที่สุดมาอ่านให้พี่ฟัง”
“พี่ก็จะดูว่าน้องอ่านถูกหรือไม่ ถ้าน้องอ่านไม่ถูกพี่จะเป็นคนสอนว่าคำนี้อ่านแบบนี้ก็จะสอนน้องจนกว่าน้องจะได้ทุกอย่างในเรื่องนั้นๆ เสร็จแล้ว พี่ก็จะบันทึกว่าน้องนำหนังสืออะไรมาอ่านและแหล่งที่มาของเรื่องที่อ่าน หลังจากนั้นพี่ก็จะตั้งคำถามในเรื่องที่น้องได้อ่านในวันนั้นเพื่อเป็นการฝึกให้เด็กมีการคิดวิเคราะห์ อย่างน้อยถ้าเด็กสามารถบอกถึงตัวละครได้เราก็ดีใจแล้ว หลังจากนั้นทั้งพี่และน้องก็จะมาอ่านให้คุณครูฟัง ถ้าเด็กสามารถอ่านและตอบคำถามของคุณครูได้ครูก็จะเซ็นชื่อให้ ผู้ปกครองรอก็สามารถรับเด็กกลับไปได้เลย” ครูทัศนีย์เล่าถึงขั้นตอนของกิจกรรมพี่สอนน้อง
นายธีรยุทธ กันทะเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำยาว เปิดเผยว่าหลังจากทำโครงการพี่สอนน้องขึ้นมาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก็เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งครูทัศนีย์ก็เป็นคนที่มีความมุมานะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ โดยถือว่านักเรียนทุกคนเหมือนกับลูกหลาน
“หลังเลิกเรียนตอน 4 โมงเย็น คณะครูก็จะจัดกิจกรรมพี่สอนน้อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด่นมากของโรงเรียน และเวลาประชุมผู้ปกครองก็จะชี้แจงให้ทราบทุกครั้งว่าโรงเรียนของเราจะเน้นในเรื่องของวิชาการ บางครั้งหลังเลิกเรียนก็อาจจะมีการสอนเสริมบ้าง เพราะถ้าเรื่องวิชาการดี การเรียนในด้านอื่นๆ ก็จะดีขึ้นตาม ซึ่งผู้ปกครองก็เข้าใจและก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี” ผอ.ธีรยุทธ กล่าว
โครงการพี่สอนน้องนอกจากจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาภาษาไทยและวิชาอื่นๆ ของนักเรียนดีขึ้นแล้ว สิ่งดีๆ อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ “จิตอาสา” ที่เกิดขึ้นในตัวของนักเรียนรุ่นพี่ ที่พัฒนาเป็น “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” และ “ความรักความผูกพัน” ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสังคมหรือชุมชนที่มีเข้มแข็งในอนาคต
“รุ่นพี่ก็จะได้การอ่านที่ถูกต้อง บางคำที่พี่อ่านไม่คล่องเขาก็จะได้รู้ว่าคำนี้เขาอ่านผิดเพราะคุณครูจะสอนเขาอีกที ส่วนสิ่งที่น้องจะได้คือการอ่าน ความรักความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่พี่มีให้ และน้องๆ ก็จะได้ในเรื่องของความรับผิดชอบ เพราะโรงเรียนของเราก็จะเน้นในเรื่องของคุณธรรมและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ครูทัศนีย์ระบุ
นอกจากจะพัฒนาการเรียนภาษาไทยให้กับเด็กๆ แล้ว “ครูทัศนีย์” ยังทุ่มเทเวลาอีกส่วนหนึ่งไปกับการดูแล “เด็กพิเศษที่มาเรียนร่วมภายในโรงเรียน และ “เด็กด้อยโอกาส” ที่เกิดจากปัญหาครอบครัวและความยากจน โดยจะรับมาดูแลช่วยสอนเสริมในตอนเย็นหลังเลิกเรียนก่อนที่จะส่งเด็กกลับบ้าน เพราะเด็กกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุมาก จึงไม่สามารถทบทวนความรู้ให้กับเด็กๆ ได้
“เด็กพิเศษถ้าเขาเรียนไม่เข้าใจ ก็จะมีครูพิเศษเรียนร่วมช่วยอธิบายคนต่อคน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอนก็จะเป็นแบบฝึกหัดซึ่งจะแตกต่างกับเด็กทั่วไป ส่วนเด็กด้อยโอกาสก็จะเรียนเหมือนกับเด็กปกติ แต่เราจะเสริมการทำแบบฝึกเข้าไป โดยเราจะสอนย้ำเพื่อให้เขาจำได้ ซึ่งเด็กพิเศษเรียนร่วมมี 14 คน ส่วนเด็กด้อยโอกาสก็มีประมาณ 70 คน” ครูทัศนีย์กล่าว
ถึงแม้ว่าไม่ว่าภาระหน้าที่ของการเป็น “ครู” จะมีมากมายทั้งงานเอกสาร การเตรียมการสอน รวมไปถึงเรื่องของการประเมินผล ฯลฯ แต่ว่าที่ “ครูสอนดี” ผู้นี้ก็ยังคงทุ่มเท และหาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือลูกศิษย์ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องเพียงเพราะคิดว่าลูกศิษย์ก็เหมือนกับลูกของตนเอง
“เราเป็นครูและสิ่งที่ผู้ปกครองรักมากที่สุดก็คือลูก ลูกคือหัวใจของผู้ปกครอง เขาอุตส่าห์ส่งลูกมาให้เรา เราก็ควรดูแลเขาให้เหมือนกับลูกของ เราก็ควรดูแลในทุกเรื่องมอบแต่สิ่งที่ดีๆ ให้เขา และเราก็จะดีใจเมื่อเห็นเด็กประสบความสำเร็จ และดีใจที่เด็กไปอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข เพราะเราก็เป็นครูคนหนึ่งที่สามารถสอนให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นสมกับที่ผู้ปกครองไว้วางใจ”
โดยเป้าหมายของ “ครูทัศนีย์” ที่ตั้งใจไว้นับจากนี้ก็คือ การพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กปกติและเด็กด้อยโอกาสทั้งหมดในตำบลอวน ด้วยการสร้างเครือข่ายครูสอนดีให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมดเพื่อที่จะได้นำเครื่องมือ แบบฝึก กิจกรรม และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“อย่างเช่นเรามีแบบฝึกที่จะช่วยเหลือ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะไปถ่ายทอดให้กับครูคนอื่นๆ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในโรงเรียนของเขา เพื่อที่จะได้เผื่อแผ่กับเด็กคนอื่นๆ เด็กพิเศษและเด็กด้อยโอกาสการศึกษาในโรงเรียนอื่นๆ ก็จะได้รับรูปแบบการเรียนการสอนที่เราได้คิดขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยพัฒนาเด็กในพื้นที่ของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิม” ครูทัศนีย์สรุป.