กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
สช.จับมือภาคีเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต เดินหน้า 2 มาตรการคุมเข้มยาสูบ ทั้งปราบบุหรี่เถื่อนที่ระบาดหนัก และห้ามอุตสาหกรรมบุหรี่-ยาเส้น ทำกิจกรรมCSRบริจาคเงินและสิ่งของแอบแฝงการโฆษณา เดินหน้าตามมติครม.17 เม.ย.ที่เห็นชอบแนวทางของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งเป้าสู่สังคมไทยไร้ควัน ขณะที่สรรพสามิตเตรียมออกมาตรการภาษี ด้านสตช.พร้อมจับกุมเพิ่มหลังที่ผ่านมาดำเนินคดีได้ปีละ 8 ล้านมวน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง "เจาะ 2 มาตรการคุมเข้มยาสูบ" โดยมีหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ที่ได้เห็นชอบมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2553 โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้มบุหรี่เถื่อนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย และมาตรการห้ามผู้จำหน่ายยาสูบใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดด้วยกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)
นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การลักลอบค้าบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญในระดับโลกมีสัดส่วนถึง 11.6% ของการปริมาณการค้าบุหรี่ทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆต้องสูญรายได้จากบุหรี่เถื่อนถึงปีละ 4.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และหากไม่มีมาตรการป้องกันจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนถึงปี ค.ศ.2030 มากถึง 8.3 ล้านคน แต่หากรัฐบาลสามารถจับกุมและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจะทำให้มีรายได้ภาษีกลับคืนมา 3.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยชีวิตคนได้ปีละ 164,000 คน
โดยจากการศึกษาพบว่าปัญหาการฉ้อราษฏร์บังหลวงมีส่วนสำคัญทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีบุหรี่เถื่อนในท้องตลาด 11% มีดัชนีวัดความโปร่งใสอยู่ที่ 3.0 ขณะที่สิงคโปร์มีบุหรี่เถื่อน 2% ดัชนีความโปร่งใสอยู่ที่ 9.1% ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยมาก
นพ.หทัย กล่าวว่า บุหรี่ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ไม่เพียงทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากเท่านั้น ยังทำให้ปริมาณการบริโภคในประเทศสูงขึ้น จำนวนผู้ที่คิดจะเลิกบุหรี่ก็ลดลง ขณะที่เยาวชนหน้าใหม่จะเข้ามาบริโภคบุหรี่สูงขึ้น มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการกับปัญหาบุหรี่ปลอมและบุหรี่เถื่อนเหล่านี้ อย่างในประเทศอังกฤษจะมีการบูรณาการ 2 หน่วยงานนี้เข้าด้วยกันตั้งเป็นองค์กรเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีหน่วยสืบราชการลับเพื่อจับกุมด้วย
ในส่วนของมาตรการห้ามธุรกิจบุหรี่ทำโฆษณาแฝงไปกับกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR นั้น นพ.หทัย กล่าวว่า การทำ CSR เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่แฝงด้วยรูปแบบของการให้สิ่งของและเงินทอง ซึ่งในแต่ละปีโรงงานยาสูบมีงบประมาณเพื่อการนี้ถึง 100 ล้านบาท และน่าเสียดายที่ปัจจุบันมีหน่วยราชการของไทย รับเงินจากโรงงานยาสูบจำนวนมาก แต่หลังจากนี้ไปโรงงานยาสูบคงไม่สามารถดำเนินการลักษณะนี้ได้อีก
นายธนาชัย รอดศิริ ผู้ช่วยเลขาคณะทำงานของกรมสรรพสามิต การดำเนินการการควบคุมยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ล่าสุดเมื่อปี 2552 จาก 80% เป็น 85% ทำให้ราคาบุหรี่ซองสูงขึ้น แต่ปัญหาพบว่าการบริโภคของประชาชนไม่ลดลง โดยเฉพาะผู้สูบหน้าใหม่และผู้หญิงกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยก็จะหันไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกลง และบางส่วนก็จะหันไปสูบยาเส้น ดังนั้นการขึ้นภาษีบุหรี่อย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาการบริโภคได้
ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีต่างๆทุกภาคส่วน จึงได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ในการควบคุมการบริโภคและปราบปรามบุหรี่เถื่อนขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำเข้าครม.ต่อไป ถือเป็นการใช้มาตรการภาษีควบคู่กับมาตรการทางสังคม โดยสุดท้ายอาจต้องมีการออกกฎหมายมาบังคับใช้ เช่น ภาษีเพื่อลดการบริโภคยาเส้นที่ขณะนี้เสียภาษีเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม และยาเส้นพื้นเมืองไม่เสียภาษี หรือใบอนุญาตร้านค้าปลีกบุหรี่ยาเส้น ที่ตามพ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 กำหนดค่าธรรมเนียมไว้แค่ 20 บาทต่อไปใบอนุญาตต้องแพงขึ้น รวมทั้งแก้ไขเรื่องปริมาณการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศที่แต่เดิมให้นำเข้าได้ไม่เกิน 200 มวน ขณะที่ฮ่องกงจำกัดไว้ไม่เกิน 19 มวนเท่านั้น
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปราบปรามถือการลักลอบผลิตบุหรี่เถื่อนทั้งที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านและลักลอบผลิตในประเทศ ซึ่งจะมีขนาดซอง รูปแบบ ตราสัญลักษณ์ และแสตมป์อากรของกรมสรรพสามิต เหมือนบุหรี่ที่ถูกกฎหมายทุกประการ
ด้าน พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนควรได้รับการผลักดันให้เป็นวาระเพื่อดำเนินการที่สำคัญ นำไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกับศุลกากร มีการจับกุมเรือที่ลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนได้ปีละ 8 ล้านมวน และที่ผ่านมาได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มุ่งเน้นการจับกุมบุหรี่และเหล้าเถื่อนมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบขณะนี้คือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมีจำกัดทำให้ยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ แต่พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคีทางสังคมในเรื่องนี้
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมการบริโภคบุหรี่ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เพื่อนำไปสู่การควบคุมและคุ้มครองผู้บริโภคให้มากที่สุด ดังนั้นการที่ครม.มีมติเรื่องนี้ออกมาก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการ เช่น การห้ามการโฆษณาผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม ทางกรมควบคุมโรคได้หารือกับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการออกระเบียบการติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างไรเพื่อความโปร่งใสและป้องกันการล็อบบี้ของบริษัทผู้ค้าบุหรี่ รวมถึงระเบียบการควบคุมการรับบริจาคเงินจากโรงงานยาสูบ ที่ให้แก่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
“การที่บริษัทบุหรี่ใช้ CSR ทำการตลาด คือการแทรกแซงทางใจ ที่ได้ผลกว่าการโฆษณา ดังนั้นเราจะเห็นเหล้าบางยี่ห้อออกมาบอกให้คนทำความดี หรือใช้ชีวิตที่ท้าทาย ขณะที่บางประเทศบริษัทบุหรี่โฆษณาว่าการสูบเป็นการแสดงความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง"นพ.นพพร กล่าว
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินการผลักดันให้มาตรการคุมเข้มยาสูบได้ผลคงต้องดำเนินการผ่านความร่วมมือกับทุกฝ่าย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ซึ่งนอกจากให้ความเห็นชอบตามมติดังกล่าวแล้ว ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามบุหรี่นอกอย่างจริงจังด้วย แสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งนี้ สช. มีหน้าที่ในการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานเรื่องนี้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม นี้ ที่ไบเทค บางนาด้วย
ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-832-9141
เขมวดี ขนาบแก้ว (ปูน) 02-832-9143