กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมพร้อมทั้งทรงเขียนภาพปิดในไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๙ โดยมี นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้ารับเสด็จฯ ณ สำนักช่างสิบหมู่ ศาลายา จ.นครปฐม
นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีการดำเนินโครงการสร้างสรรค์ภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ และเพื่อนำมาใช้เป็นภาพประกอบหนังสือ ไตรภูมิกถา ฉบับรัชกาลที่ ๙ อีกทั้งยังถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครั ฐ และภาคเอกชน จากกรณีที่ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ เป็นครั้งที่ ๒ จำนวน ๑.๕ ล้านบาท จากที่เคยให้การสนับสนุนครั้งแรก จำนวน ๑.๕ ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา รวมเป็นเงินสนับสนุนทั้งสิ้น ๓ ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะนำเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนการจ้างช่างเขียนภาพมาช่วยเพิ่ม ส่วนภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๙ จะมีขนาดความสูงประมาณ ๑๖ เมตร กว้าง ๓.๒๐ เมตร โดยจะจัดทำเป็น ๒ ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเขียนภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๙ ยังเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ปรัชญาความเชื่อทางศาสนาที่มีมาแต่โบราณ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนเป็นสิ่งจรรโลงสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกด้วย
ด้าน ม.ร.ว. จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในฐานะผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์ภาพไตรภูมิ สมัยรัชกาลที่ ๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินโครงการที่สำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม เพื่อนำมาใช้เป็นภาพประกอบหนังสือไตรภูมิกถา ฉบับรัชกาลที่ ๙ ขณะนี้การดำเนินงานเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยได้คัดลอกมาจากหนังสือไตรภูมิกถา หรือเป็นที่รู้จักในนามไตรภูมิ พระร่วง บทพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์สมัยสุโขทัย เขียนขึ้นปี พ.ศ.๑๘๘๘ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ บาปบุญคุณโทษ ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนเป็นสิ่งจรรโลงสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข นับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกด้านพุทธศาสนาเรื่องแรกของไทย และยังคงรักษาอยู่มาถึงปัจจุบัน
นายชัยพล สุขเอี่ยม
กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
โทร.02-4228851