กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--วช.
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับเป็นเรื่องสำคัญ หากประเทศใดมีบุคลากรของชาติมีคุณภาพจะส่งผลต่อความมั่นคง ความมีเสถียรภาพในสังคมดังเช่น การพัฒนาบุคคลในระบบราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรนั่นคือ "ตำรวจ" จะต้องมีพฤติกรรมการทำงานอยู่ในระเบียบวินัย และข้อบังคับหลาย ๆ อย่าง ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.ดร.นีออน พิณประดิษฐ์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ ร่วมกันทำการวิจัยเรื่อง "ตัวบ่งชี้ทางจิตสังคมของพฤติกรรมการทำงานในข้าราชการตำรวจ สังกัดตำรวจภูธรภาค 4" โดยใช้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน" จำนวน ๑,๒๐๙ คน จาก ๕๑ สถานี ใน ๗ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผลวิจัยพฤติกรรมการทำงานของตำรวจพบว่า ตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่อยู่ในสายงานปราบปราม ได้รับการสนับสนุนจากสังคม มีแบบอย่างที่ดีในการทำงาน งานที่ทำตรงกับอุปนิสัยและความถนัด อีกทั้งมีภรรยาที่คอยส่งเสริมการทำงาน จะเป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง นอกจากนี้ ตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษเกี่ยวกับงานในหน้าที่ มีความใกล้ชิดกับศาสนาค่อนข้างมาก มีหัวหน้างานที่ประเมินการทำงานว่ามีพฤติกรรมการทำงานเหมาะสมในหน้าที่ จะเป็นตำรวจที่มีพฤติกรรมการทำงานในระดับสูงด้วยเช่นกัน--จบ--
-นท-