กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--Market-Comms
นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าพัฒนาระบบราชการไทยไร้ทุจริตคอร์รัปชั่นตามแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการ 4 แผนงานเชิงรุก (Quick Win Program) พร้อมชูศูนย์ปฏิบัติการทุจริตคอร์รัปชั่น เปิดกล่องขาวและสายสีขาว รายงานผลตรงศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี ลงโทษข้าราชการทุจริตอย่างจริงจัง และเชิดชูอาสาต่อต้านคอร์รัปชั่น
เมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานเปิดโครงการ ประเทศไทยก้าวไกล ไร้ทุจริตคอร์ปชั่น กล่าวถึงแผนงานเชิงรุกการต่อต้านทุจริตคอร์ปชั่น (Quick win program) ของรัฐบาลว่า “ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เน้นย้ำใน 4 แผนงานหลักได้แก่ 1) การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ โดยสร้างข้าราชการไทยใจสีขาว และมอบเครื่องหมายสัญลักษณ์อาสาต่อต้านคอร์รัปชั่น ติดป้าย “ไม่รับสินบนและคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ” ทุกส่วนงานราชการ 2) การพัฒนาองค์กร สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการด้วยการวิเคราะห์ จัดระบบ ติดตามและประเมินผลในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน 3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุจริตคอร์รัปชั่น เชื่อมโยงข้อมูลรายงานผลไปยังศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเปิดกล่องขาวและสายสีขาวให้แก่ประชาชน แจ้งเรื่องราวการทุจริตคอร์รัปชั่น 4) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด การประกาศบทลงโทษผู้กระทำผิด ประชาสัมพันธ์การดำเนินคดีปราบปรามทุจริตอย่างต่อเนื่อง และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่น (รางวัลประจำปี)
แผนงานดังกล่าว เน้นการดำเนินงานที่หวังผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยสร้างความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยดีขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมกับคณะรัฐมนตรี 36 ท่าน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) ก่อนเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” และการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อ ได้แก่ 1) แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2) แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทย โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น 3) การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล (กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) ตลอดจนการนำเสนอตัวอย่างต่างประเทศที่เป็นเลิศ ( Best Practices ) ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น : กรณีของสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยอดีตผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau ( CPIB ), Singapore (Mr. Chua Cher Yak) โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกรมและจังหวัด ผู้แทนองค์กรอิสระผู้แทนภาคท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคสื่อมวลชน คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศ/ในประเทศไทย เข้าร่วมประชุมอย่างล้นหลาม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานบูรณาการชี้แจงหลักการและแนวทางการจัดทำข้อเสนอให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยปัญหาจากภายในองค์การ เพื่อหากระบวนการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น จากนั้น จึงนำเสนอวิธีการแก้ไขภายในระยะเวลา 30 วัน และจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอและจะให้ทุนสนับสนุนเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ ระหว่างดำเนินการก็จะมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะๆ มีการประเมินผลสำเร็จของการดำเนินการในรอบ 1 ปี