กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ย้ำงานวิจัยเรื่อง "ช่องโหว่ของกองทุนทองคำไทย" เป็นหน้าที่ของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการโฆษณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง
ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ นักวิจัยและอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการเผยแพร่งานวิจัยเรื่อง "ช่องโหว่ของกองทุนทองคำไทย" ที่ได้ระบุว่านำเงินกองทุนไปลงทุนในกองทุนทองคำที่อ้างอิงราคาปิดจากตลาดสิงคโปร์มีความเสี่ยง เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายกองทุนทองคำในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ราคาปิดกระโดดไปอยู่ที่ $165.99 ซึ่งการตรวจสอบจากตลาดทองคำโลก (London และHong Kong) พบว่าไม่มีการกระโดดของราคาเช่นในตลาดสิงคโปร์ ทำให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนร่วม 1,000 คน และในเวลาต่อมาศศินทร์ได้จัดงาน “Sasin Faculty Research Forum” เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงที่มาที่ไปของปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ การเผยแพร่งานวิจัยและจัดสัมมนาเกี่ยวกับความผิดปกติของการลงทุนในกองทุนทองคำดังกล่าว ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจัดการลงทุน รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนทองคำวันนั้นที่สูงเกินไปถึง 9.42% ซึ่งถือว่าเป็นความผันผวนของราคาตลาดที่ไม่โปร่งใส หรือเกิดจากการทุ่มตลาด และเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม ล่าสุดกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และต้องการให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ดร.ชนวีร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าวเพื่อต้องการสะท้อนให้สังคมได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของนักวิชาการและสถาบันการศึกษา เพราะหลังจากเกิดปัญหาดังกล่าวได้เสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง เปลี่ยนแปลงการอ้างอิงราคาปิดตลาดโดยให้เปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอื่นที่บิดเบือนได้ยากมากำหนดราคา NAV แทน เพื่อให้สามารถสะท้อนราคาตลาดอย่างเป็นธรรม เช่น ค่าเฉลี่ย และ ค่า Indicative NAV
สำหรับความผิดปกติของราคาปิดตลาดที่สิงคโปร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดร.ชนวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองก็ได้รับความเสียหายจากการลงทุนเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าจะไม่มากนักแต่ก็ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นซ้ำอีก ทั้งยังรู้สึกว่าการเผยแพร่งานวิจัยเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนได้เห็นช่องโหว่ของตลาดที่สะท้อนออกมาว่าไม่เป็นธรรมต่อการลงทุน เชื่อว่าจากนี้ไปประชาชนที่ต้องการลงทุนในตลาดดังกล่าวจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ และอย่าหลงเชื่อเรื่องผลตอบแทน เนื่องจากการลงทุนทุกประเภทมีความผันผวน
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความเคลื่อนไหวของนักลงทุนเรียกร้องค่าชดเชยผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้มีการประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ นักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย , สมาคมบริษัทจัดการลงทุน , บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเจรจาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้ขอเลื่อนการเจรจา เพื่อหารือกับสมาชิกของสมาคมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้กลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายได้ให้เวลาจนถึงสิ้นพฤษภาคม หากไม่มีความคืบหน้าจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ก็จะใช้มาตรการกฎหมายและจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลต่อนักลงทุนทั่วประเทศ ว่ามีความเสี่ยงมากเพียงใดในการลงทุนกับบริษัทจัดการการลงทุน และขอให้ผู้เสียหายทุกท่านรีบแจ้งข้อมูลและร่วมกันเรียกร้องความรับผิดชอบชดเชยความเสียหายได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-2483737 หรือ www.consumerthai.org
สำหรับ กองทุนที่อ้างอิงราคากองทุนทองคำสิงคโปร์ (SPDR GLD 10 US$) คือ บัวหลวงโกลด์ฟันด์, บัวหลวงโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ, เค โกลด์, เค โกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ, กรุงศรีโกลด์, กรุงศรีโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ, เคแทม โกลด์ ฟันด์, เคแทม โกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ, วรรณโกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ, ไทยพาณิชย์โกลด์, ไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์, ไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ เพื่อการเลี้ยงชีพ, ทหารไทย โกลด์ สิงคโปร์, ทหารไทย โกลด์ สิงคโปร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ และ ยูโอบี โกลด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ศิริลักษณ์ สุจริตตานนท์ (แอน) Asst. Chief of Public Relations โทร 02-218- 3853-4
E-mail: sirilak.sujarittanonta@sasin.edu
แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร ผู้ประสานงานการประชาสัมพันธ์และการตลาด โทร. 02-218- 3852
E-mail:Praewthip.danwarawijitr@sasin.edu