กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--Carl Byoir & Associates
แจ็ค แอนดรากา จากเมืองคราวส์วีล มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ ได้รับรางวัลสูงสุดจากการประกวดฯ ปีนี้
ประเด็นข่าว
- งานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ อินเทล ไอเซฟ ซึ่งเป็นโครงการของสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ ประกาศผล ผู้ชนะที่เมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา
- ณัฐพงศ์ ชิณรา, จตุพร ฉวีภักดิ์, นันทกานต์ ล่องโลด, และ กิตติธเนศน์ ธนรุ่งโรจน์ทวี สี่นักเรียนไทยได้รับรางวัลจากการส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าประกวดในปีนี้
- แจ็ค แอนดรากา จากเมืองคราวส์วีล มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ ได้รับรางวัลกอร์ดอน อี. มัวร์ พร้อมทุนการศึกษา 75,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวดฯ ครั้งนี้ และเป็นรางวัลที่มีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง พร้อมทั้งเป็น ประธานและซีอีโอของอินเทลที่เกษียนอายุการทำงานแล้ว
- นิโคลัส ชีเฟอร์ จากเมืองพิกเคอริง มลรัฐออนตาริโอ แคนาดา และ อาริ ดิกโคสกาย จากเมืองลีส์เบิร์ก มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ต่างได้รับรางวัลคนละ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จากมูลนิธิอินเทล
ในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ หรือ อินเทล ไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair, Intel ISEF) ซึ่งอินเทลจัดขึ้นร่วมกับสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ (Society for Science & the Public, SPP) ในปีนี้ ปรากฏว่า ผู้ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งไปครอง ได้แก่ แจ็ค แอนดรากา นักเรียนอายุ 15 ปี จากเมืองคราวส์วีล มลรัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จากผลงานที่ศึกษาวิธีการใหม่ในการตรวจค่ามะเร็งตับอ่อน เริ่มจากกระดาษที่ใช้ทดสอบโรคเบาหวาน แจ็คได้สร้างเซนเซอร์ซึ่งเป็นเพียงก้านไม้ธรรมดา นำมาใช้ทดสอบกับเลือดหรือปัสสาวะ เพื่อแปรผลว่าคนไข้เป็นมะเร็งตับอ่อนระยะเริ่มแรกหรือไม่ การศึกษาของแจ็คมีความถูกต้องสูงถึงร้อยละ 90 และยังแสดงให้เห็นด้วยอีกว่า เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว เซ็นเซอร์ดังกล่าวสามารถทำงานได้ผลเร็วกว่าถึง 28 เท่า มีราคาถูกกว่า 28 เท่า และยังตรวจได้ละเอียดมากกว่า 100 เท่าอีกด้วย จากผลงานชิ้นนี้ทำให้แจ็คได้รับรางวัลสูงสุดจากงาน อินเทล ไอเซฟ ปีนี้ คือ รางวัล กอร์ดอน อี. มัวร์ ซึ่งมีขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานและซีอีโอของอินเทลที่เกษียนอายุการทำงานไปแล้ว เป็นทุนการศึกษา 75,000 เหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นักเรียนอีกสองคน คือ นิโคลัส ชีเฟอร์ อายุ 17 ปี จากเมืองพิกเคอริง มลรัฐ ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา และ อาริ ดิกโคสกาย อายุ 18 ปี จากเมืองลีส์เบิร์ก มลรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลคนละ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ จากมูลนิธิอินเทล
นิโคลัส ได้ทำการศึกษาถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “microsearch” หรือ ความสามารถในการค้นหาข้อมูลจากสื่อที่โตเร็วที่สุดในขณะนี้ นั่นคือ ข้อมูลขนาดเล็กๆ เช่น จากการทวีตและการอัพเดตสถานะบนเฟสบุ๊ก เป็นต้น จากการค้นคว้าของนิโคลัส เขาหวังที่จะปรับปรุงความสามารถต่างๆ ของเสิร์จเอ็นจิ้นทั้งหลายให้ ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลดีขึ้นตามไปด้วย
อาริ ได้ทำการศึกษาถึงศาสตร์ของการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างอะตอมโดยไม่ต้องใช้ตัวกลาง (quantum teleportation) โดยเขาพบว่าทันทีที่อะตอมได้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับกระบวนการซึ่งเรียกว่า “entanglement” ข้อมูลจากอะตอมหนึ่งจะปรากฏขึ้นที่อีกอะตอมหนึ่งเมื่อสภาวะควอนตัม (quantum state) ของอะตอมแรกถูกทำลาย ด้วยวิธีนี้ องค์กรต่างๆ ที่ต้องการระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูงๆ เช่น หน่วยงานเพื่อความปลอดภัยระดับชาติ สามารถส่งข้อความที่เข้ารหัสไว้แล้วได้ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกสกัดกั้น เนื่องจากข้อมูลจะไม่เดินทางไปยังที่หมายใหม่ หากแต่จะปรากฏขึ้นตรงนั้นได้เองโดยง่ายดาย
สำหรับนักเรียนตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งได้แก่ ณัฐพงศ์ ชิณรา, จตุพร ฉวีภักดิ์, นันทกานต์ ล่องโลด จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชนะอันดับสองจากรางวัล แกรนด์ อวอร์ด โดยได้รับทุนการศึกษาจำนวน 1,500 เหรียญสหรัฐ จากสาขาสัตววิทยา ในผลงานหัวข้อ “การศึกษาบทบาทของ หอยทากในสวนยางพารา” และ กิตติธเนศน์ ธนรุ่งโรจน์ทวี จากโรงเรียนกันทรารมณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งชนะอันดับสองจากรางวัล แกรนด์ อวอร์ด ได้รับทุนการศึกษาจำนวน 1,500 เหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน จากผลงานเรื่อง “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการย่อยสลายอาหารของมดแดงกับคุณค่าทางโภชนาการในไข่มดแดง”
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราสนับสนุนการประกวด อินเทล ไอเซฟ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราตระหนักดีว่าวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของโลกในอนาคต งานการประกวดดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนจำนวนหลายล้านคน ฝึกใช้ทักษะด้านต่างๆ ของตนในการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อนำไปต่อยอดเป็นแนวทางที่สามารถใช้ได้ผลจริงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับโลก”
งานอินเทล ไอเซฟ ในปีนี้ มีการคัดเลือกนักคิด นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,500 คน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากการประกวดต่างๆ กว่า 446 งาน ในกว่า 70 ประเทศ และส่วนการปกครองต่างๆ ทั่วโลก นอกเหนือจากผู้ชนะรางวัลที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลอื่นๆ อีกกว่า 400 คน ซึ่งได้รับรางวัลจากผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และโดดเด่น รางวัลเหล่านี้แบ่งออกเป็น 17 สาขา โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลคนละ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ มูลนิธิอินเทลยังมอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนของผู้ที่ได้รับรางวัล อีกรางวัลละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย
ผู้ชนะทั้ง 17 สาขา ที่นำมาคัดเลือกผู้ชนะเลิศสามอันดับแรก ได้แก่
สาขา ชื่อผู้ชนะ นามสกุล เมือง รัฐ/ประเทศ
สัตววิทยา ลูซี่ ริทธ์โซ ฮอลแลนด์ เพนซิลวาเนีย สหรัฐฯ
สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ เบนจามิน คอร์นิก รอสลิน นิวยอร์ค สหรัฐฯ
ไฮท์ส์
ชีวเคมี รีเบคกา อัลฟอร์ด คอมแมค นิวยอร์ค สหรัฐฯ
เซลล์และชีวโมเลกุล รัคฮาฟ ไตรปาติ พอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐฯ
เคมี รัคฮาเวนดรา รามาจันเดอราน เบงกาลูรู อินเดีย
วิทยาการคอมพิวเตอร์ นิโคลัส ชีเฟอร์ พิกเคอริง ออนตาริโอ แคนาดา
วิทยาศาสตร์โลก โมฟีด ซาวาน ลอนดอน แคนาดา
ออนตาริโอ
วิศวกรรม: ไฟฟ้าและเครื่องกล อัสซิยะ คุซไซโนวา คารากานดา คาซัคสถาน
คารากานดี
วิศวกรรมวัสดุ และวิศวกรรมชีวะเวช เรียวตะ อะชิซูกะ คอส ค็อบ คอนเน็คติกัต สหรัฐฯ
พลังงานและการขนส่ง ชียามาล บุช ฟอลซัม แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
การจัดการสิ่งแวดล้อม อดัม โนเบิล เลคฟิลด์ แคนาดา
ออนตาริโอ
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นาโอมิ ชาห์ พอร์ตแลนด์ โอเรกอน สหรัฐฯ
คณิตศาสตร์ ไอชวารยา วาร์ดานา บีเวอร์ตัน โอเรกอน สหรัฐฯ
แพทยศาสตร์และสุขภาพ แจ็ค แอนดรากา คราวส์วิลล์ แมรี่แลนด์ สหรัฐฯ
จุลชีวะวิทยา เฟลิกซ์ แอนเจลอฟ สโกกี อิลลินอยส์ สหรัฐฯ
ฟิสิกส์และดาราศาสตร์ อาริ ไดโคสกาย ลีส์เบิร์ก เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ
พืชศาสตร์ ฮุยฮุย ฟาน เกาะสตาเตน นิวยอร์ค สหรัฐฯ
สมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ (SSP) เป็นองค์กรการกุศลที่อุทิศตนเพื่อการวิจัย และให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน โดยเป็นเจ้าของและดูแลการจัดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในฐานะที่เป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ระดับชาติ
อลิซาเบธ มารินโคลา ประธานสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ กล่าวว่า “เราขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลจากงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ อินเทล ไอเซฟในปีนี้ทุกคน พวกเขาและผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทุกคนได้แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (หรือ STEM) นั้น สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งเพาะบ่มความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการประดิษฐ์คิดค้นที่สามารถแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ ในอนาคตได้อย่างไร”
ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ อินเทล ไอเซฟ ในแต่ละปีจะคัดเลือกจากงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์จากทั่วโลก จากนั้น โครงงานทั้งหมดจะต้องผ่านการประเมินจากกรรมการมากกว่า 1,200 ท่านจากสาขาวิทยาศาสตร์เกือบทุกแขนง โดยแต่ละท่านล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับวุฒิดุษฏีบัณฑิต หรือเทียบเท่าที่มีประสบการณ์การทำงานที่ช่ำชองในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กว่า 6 ปี
ผู้สนใจ สามารถดูรายชื่อของผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมดได้ที่http://www.societyforscience.org/document.doc?id=372 (ตั้งแต่หน้า 57 เป็นต้นไป) งานอินเทล ไอเซฟ ได้รับการสนับสนุนร่วมกันระหว่างบริษัท อินเทล และมูลนิธิอินเทล และได้รับการสนับสนุนในด้านรางวัลเพิ่มเติมจากหน่วยงานเอกชน องค์กรทางการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์
หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SSP ตลอดจนโครงการต่างๆ และผลงานสิ่งพิมพ์อื่นๆ สามารถติดตามได้ที่ www.societyforscience.org ทวิตเตอร์ www.twitter.com/society4science หรือเฟสบุ๊ค www.facebook.com/societyforscience
ข่าวสารล่าสุดทางด้านการศึกษาของอินเทล สามารถติดตามได้ที่ www.intel.com/newsroom/education หรือผ่านเฟสบุ๊ค www.facebook.com/intel และทวิตเตอร์ได้ที่ www.twitter.com/intelinvolved
ติดต่อ:
สุภารัตน์ โพธิวิจิตร คุณอรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์โทรศัพท์: (66 2) 648-6022
โทรศัพท์: (66 2) 627-3501 e-Mail: suparat.photivichit@intel.com e-Mail: orawan@carlbyoir.com.hk