กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สพม.19
เมื่อเอ่ยถึง “ผีตาโขน” ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงไปจนถึงพ่อชะแล แก่ชรา ฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่น เกาหลี...ไม่มีใครไม่รู้จัก !!!หลายคนคงนึกถึงภาพกองทัพ “ผีตาโขน” สวมชุดที่ทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน วาดลวดลาย ส่ายสะโพก โขยกขาและขยับเอว ส่งเสียงดังจาก “หมากกะแหล่ง” (ลักษณะคล้ายกระดิ่งใช้แขวนคอกระบือ) หรือกระดิ่ง กระพรวน กระป๋องที่ผูกติดกับบั้นเอว แขวนคอ หรือถือเคาะเขย่าเป็นจังหวะ พร้อมกับอาวุธประจำกายเป็นดาบ หรือง้าว ซึ่งทำจากไม้เนื้ออ่อน หรือบางตัวอาจจะมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายทาสีแดงตรงปลายเอาไว้หยอกล้อเพื่อให้ตื่นเต้นขบขัน สร้างความสนุกสนานครื้นเครงในขบวนแห่ “งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน” ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
“ผีตาโขน” เป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้าน ที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีงามที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
เทศกาลงานบุญผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของ “งานบุญหลวง” งานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น โดยรวมเอา “งานบุญพระเวส” (ฮีตเดือนสี่) และ “งานบุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) เข้าใว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้นเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือว่าได้รับอนิสงส์แรงกล้าบันดาลให้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ในชาติหน้า ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และในงานบุญนี้จะมี “ผีตาโขน” ทั้งน้อยใหญ่หลายร้อยตัวออกมาวาดลวดลาย สร้างสีสันในขบวนแห่ทั่วเมืองด่านซ้ายนั่นเอง
เอกลักษณ์ของ “ผีตาโขน” ก็คือ “หน้ากากผีตาโขน” ที่ทำด้วยหวดนึ่งข้าวเหนียวนำมาหักพับขึ้นให้มีลักษณะคล้ายหมวก ส่วนหน้าทำจากโคนก้านมะพร้าว ถากเป็นรูปหน้ากากแล้วเจาะช่องตา สำหรับจมูกของผีตาโขนสมัยก่อนจะทำขนาดเล็กคล้ายจมูกคนธรรมดาทั่วไป แต่ในปัจจุบันมักทำในลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง โดยทำจากไม้นุ่นซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาแกะเป็นรูปทรงต่างๆ ส่วนเขาทำจากปลีมะพร้าวแห้งนำมาตัดเป็นขนาดและรูปทรงตามต้องการ
การประกอบส่วนต่างๆ ของหน้ากาก ส่วนหน้าและเขาใช้เชือกเย็บติดเข้าด้วยกัน ส่วนจมูกยึดติดกับหน้ากากใช้ตะปูยึดจากด้านใน การตกแต่งลวดลายต่างๆ ในปัจจุบันนิยมใช้สีน้ำมันหรือจะใช้สีจากธรรมชาติ เช่น ขมิ้น ปูนขาว ขี้เถ้า ปูนแดง เขม่าไฟ เมื่อตกแต่งลวดลายเสร็จแล้ว ด้านหลังจะใช้เศษผ้าเย็บต่อจากหน้ากากและหวดให้คลุมส่วนคอจนถึงไหล่
“หน้ากากผีตาโขน” เป็นงานศิลปะพื้นบ้านที่ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยรูปแบบหลากหลายตามจินตนาการของผู้ทำและตามอิทธิพลต่างๆ ที่ได้รับ แต่ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นผีตาโขนไว้เป็นอย่างดี
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถานศึกษาภายในจังหวัดเลยเกือบทุกแห่ง ล้วนให้การส่งเสริม สนับสนุน การสอนงานประดิษฐ์ ศิลปหัตถกรรม ผลิตสินค้าของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับผีตาโขน เพื่อเป็นการฝึกฝนและเป็นการสร้างอาชีพให้กับชุมชน ประชาชนในท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปอย่างกว้างขวาง หลากหลาย…
เช่นเดียวกับโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปัจจุบันมีนายธรรมรงค์ แสนจันทร์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 (เลย-หนองบัวลำภู) คืออีกโรงเรียนหนึ่งของจังหวัดที่มีการส่งเสริมการสอนการประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ “ผีตาโขน” ได้สร้างชื่อเสียงรับเกียรติบัตรการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลงานนักเรียนที่มีคุณภาพ และคว้ารางวัล “บูธดีเด่นในด้านผลิตภัณฑ์ผลงานนักเรียน” ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 61 ปีการศึกษา 2554 “สุดยอดเด็กไทย ก้าวล้ำ สู่ผู้นำอาเซียน” ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม ที่ผ่านมา ณ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ด้วยการสนับสนุนจากนายสมเจษฎ์ ศรีสมจักร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19
นายอภิรัตน์ พรหมรักษา ครูที่นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้บอกว่า ด้านหน้าบูธจะดึงดูดด้วยเหล่าผีตาโขนที่เป็นการแสดงของนักเรียน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมาขอถ่ายภาพด้วยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งชมการสาธิตการประดิษฐ์หน้ากากผีตาโขน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผลงานของนักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน
ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับผีตาโขนมีมากมายและหลากหลาย ตั้งแต่หน้ากากผีตาโขน เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องประดับครบชุดที่สามารถสวมใส่ร่วมขบวนแห่หรือเพื่อการแสดงได้ หุ่นผีตาโขนขนาดยักษ์ ใหญ่ กลาง เล็กและจิ๋ว ทั้งที่เต้นได้และเต้นไม่ได้ หลากหลายอริยะบทบนรถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ โคมไฟผีตาโขน หน้ากากผีตาโขนประดับบ้าน หน้ากากผีตาโขนประดับรถยนต์ แก้วกาแฟผีตาโขน กระปุกออมสินผีตาโขน ดินสอ พวงกุญแจผีตาโขน และอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
นอกจากนี้ศิลปะด้านการแสดงของเหล่า “ผีตาโขน” ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะหลายๆ ครั้งเมื่อบรรดา “ผีตาโขน” เหล่านี้ได้ขึ้นเวทีเต้นประกอบเพลง หรือแม้แต่บนทางเดิน ยังสามารถสะกดสายตาผู้ชมได้เป็นอย่างดี และบ่อยครั้งที่หน่วยงานราชการและเอกชนในจังหวัดเลย ได้นำโชว์การแสดงเต้นผีตาโขนทั้งที่แสดงกันเองหรือให้เหล่าผีตาโขนมืออาชีพ ไปแด๊นซ์อวดต่อสายตาชาวไทย หรือชาวต่างชาติ เมื่อมีโอกาสในงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง งานประชุมสัมมนา หรือแม้แต่การนำมาเป็นสัญลักษณ์นำโชค เพื่อการแข่งขันกีฬาและอื่นๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยได้เป็นอย่างดี
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย ได้จัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง “งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน” (BUNLUANG AND PHITAKHON FESTIVAL) และจัดแสดงนิทรรศการเหล่าบรรดาหน้ากากของต่างประเทศไว้ให้ศึกษาภายในห้องนิทรรศการหน้ากากนานาชาติ (International Mask Exhibition) อีกด้วย อาทิ หน้ากากปู่เยอ ย่าเยอ ประเทศลาว (LAOS MASK, POOYER-YAYER), ละครโน ประเทศญี่ปุ่น(JAPAN,NOH), หน้ากากจีน ประเทศจีน(CHINA, BEINA OPERRA), หน้ากากเวียดนาม ประเทศเวียดนาม( VIETNAMESE MASK) และเทศกาลระบำหน้ากากนานาชาติอันดอง ประเทศเกาหลี(KOREAN, ANDONG MASK DANCE)
สำหรับการจัดงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประจำปี 2555 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2555 พิธีวันแรกเริ่มด้วยพิธีเบิกพระอุปคุต โดยคณะของพ่อแสนทุกคนจะนำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ มีมีด ดาบ หอก ฉัตร ถือเดินตามขบวนจากวัดโพนชัยไปที่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน เพื่อเชิญพระอุปคุต (คือก้อนกรวดสีขาว)ในแม่น้ำ เล่าขานกันว่าเมื่อมีงานบุญใหญ่โตมักมีมารมาผจญ จึงต้องเชิญพระอุปคุตมาเพื่อช่วยปราบมารให้ราบคาบ เมื่อได้พระอุปคุตแล้วจะนำใส่หาบเคลื่อนขบวนกลับมาทำพิธีที่หออุปคุตวัดโพนชัย
ในตอนรุ่งเช้าจะมีขบวนแห่ไปที่บ้านเจ้าพ่อกวนเพื่อที่จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม เมื่อได้เวลาอันสมควรเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะแสน นางแต่ง บรรดาผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนเล็กทั้งหลาย ตลอดจนขบวนเซิ้งจะร่วมกันเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดโพนชัย เวียนรอบอุโบสถ 3 รอบ ซึ่งจะมีผีตาโขนจำนวนมากเที่ยวหลอกล่อผู้คนที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน
วันที่สองบรรดาผีตาโขน จะเริ่มเล่นกันตั้งแต่เช้า ส่วนใหญ่จะรวมกลุ่มกันอยู่ที่วัดโพนชัยวาดลวดลายเต้นตามจังหวะดนตรีที่สนุกสนานครื้นเครงจนถึงเวลาพิธีอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง(แห่พระเวส) เมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัยจะเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ ในระหว่างที่เคลื่อนขบวนจะมีการโปรยกัลปพฤกษ์ซึ่งก็คือ เหรียญเงินเหรียญทองทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแย่งกันเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เป็นที่สนุกสนาน
หลังจากนั้นบรรดาผู้เล่นผีตาโขนจะนำชุดและอุปกรณ์ที่ใช้เล่นไปทิ้งลงแม่น้ำหมัน ถือเป็นการลอยเคราะห์ให้ไหลล่องไปกับแม่น้ำ (แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเก็บไว้ใช้ประดับบ้านหรือเก็บไว้ใช้อีกในปีหน้า)
วันที่สามจะเป็นการฟังเทศน์มหาชาติ ตั้งแต่เช้ามืดเพื่อกล่อมเกลาจิตใจและได้อานิสงส์ผลบุญแรงกล้า เป็นอันเสร็จพิธี
ว่าแล้ว...หากมีเวลาขอเชิญมาร่วมก๊วนครื้นเครงกับเหล่า “ผีตาโขน” ในงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประจำปี 2555 ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน นี้ ...น่าจะดี !!! สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานเลย โทร 0 4281 2812
ติดต่อ:
กฤตภาส ดวงไพชุม
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สพม.19 /รายงาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ททท.สำนักงานเลย โทร 0 4281 2812