บีโอไอปรับหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่รุกดึงดูดอุตสาหกรรมดาวเด่นเข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2004 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--บีโอไอ
- บอร์ดบีโอไอไฟเขียวปรับใหญ่หลักเกณฑ์-นโยบาย-มาตรการส่งเสริมการลงทุน
- หวังดึงดูดอุตสาหกรรมสำคัญจากต่างประเทศด้านซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์
- ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์เดิม แก่นิคมฯในเขต 2 และ 3 อีก 5 ปี
- ปรับเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกโครงการที่ขยายกำลังการผลิต
- พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์เท่าเขต 3 พิเศษ(18จังหวัด)แก่จังหวัดชัยภูมิและ 3 จังหวัดใกล้เคียง
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ดังนี้
ให้สิทธิประโยชน์กิจการซอฟต์แวร์สูงสุด
แม้ว่าที่ผ่านมา บีโอไอจะกำหนดให้กิจการซอฟต์แวร์เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกกำหนดวงเงินที่จะได้รับยกเว้นคือไม่เกิน 1 เท่าของเงินลงทุน นอกจากนี้ การแบ่งประเภทของกิจการซอฟต์แวร์ยังมีลักษณะค่อนข้างกว้างและมีความไม่ชัดเจน
ดังนั้น เพื่อให้การส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจประเภทนี้ในปัจจุบัน และเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทซอฟต์แวร์ข้ามชาติรายใหญ่ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บีโอไอปรับประเภทกิจการซอฟต์แวร์ โดยเน้นการส่งเสริมเป็นกลุ่มธุรกิจ ( Business Group) แทนที่จะเป็นแบบลักษณะการทำงาน (Activity Group) ซึ่งจะแบ่งได้ 3 ประเภท คือ Enterprise Software หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงธุรกรรม, Digital Content หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับมัลติมีเดียและแอนนิเมชั่น และ Embedded Software หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฝังในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นซิมการ์ทในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือตัวไมโครชิพในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้มากในอุตสาหกรรมยานยนต์และของเด็กเล่น
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่ว่าตั้งอยู่ในเขตใด และไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้น
นอกจากนี้ จะต้องเป็นโครงการที่มีกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (SIPA) กำหนดหรือให้ความเห็นชอบ และสำหรับโครงการที่ลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานจาก SIPA หรือมาตรฐาน CMM หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าและได้รับความเห็นชอบจาก SIPA
ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริการหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ (Pre - Production) ที่ประชุมจึงเห็นชอบใน มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งของไทยและของต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทย โดยมาตรการด้านภาษีนั้น บีโอไอจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีทุกเขตที่ตั้งแก่กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยและกิจการให้บริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์หรือมัลติมีเดีย รวมทั้งปรับขอบข่ายธุรกิจให้ครอบคลุมถึงภาพยนตร์สารคดีและสปอตโฆษณา และเสนอให้กระทรวงการคลังลดอัตราขาเข้าเครื่องมืออุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากร้อยละ 20 เหลือ ร้อยละ 5
นอกจากนี้ บีโอไอก็จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกิดเป็น Cluster โดยจะเปิดให้การส่งเสริมแก่กิจการเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือ Movie Town โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขตและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ทั้งผู้ประกอบการนิคมฯ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมฯ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทย โดยให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรับผิดชอบ และเสนอให้สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์จัดตั้งหลักสูตรเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาบุคลากรที่ขาดแคลน อาทิ ด้านผู้เขียนบท ผู้เชี่ยวชาญการทำเทคนิคพิเศษ นักพากษ์ภาพยนตร์
สำหรับมาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยนั้น บีโอไอจะอำนวยความสะดวกในเรื่องใบอนุญาตทำงานและวีซ่าให้กับคณะผู้ที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์และทีมงานสำรวจสถานที่ถ่ายทำ
ในส่วนของมาตรการด้านภาษีนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกรมสรรพากรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำ โดยจะศึกษาจากสิทธิประโยชน์ของประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ธุรกิจภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีมาตรการส่งเสริมครอบคลุมทุกด้าน ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่อำนวยความสะดวกแบบครบวงจร ตั้งแต่การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ การอนุญาตการถ่ายทำ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ ตลอดจนมีการปรับปรุงกฎระเบียบในการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ให้สะดวกรวดเร็ว ครบวงจรและมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะมีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับผิดชอบ
ปรับเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกโครงการที่ขยายกำลังการผลิต
ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานฯ ให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับการพิจารณาอนุมัติแก้ไขโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ไม่ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และไม่ต้องจัดทำบัญชีเครื่องจักร วัตถุดิบแยกแต่ละโครงการ รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรเดิมให้เต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในกรณีที่สิทธิประโยชน์ ของผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการขอรับการส่งเสริมเป็นโครงการใหม่ หรือแก้ไขโครงการที่ได้รับอนุมัติอยู่แล้ว หากประสงค์จะขอเพิ่มกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์เดิมใหม่ จะต้องเป็นโครงการที่ยังไม่เปิดดำเนินการหรือเปิดดำเนินการยังไม่เต็มกำลังผลิต ส่วนกรณีการเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากการปรับปรุงสายการผลิตเดิม หรือปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องของจักรที่มีอยู่เดิม แม้จะเปิดดำเนินการผลิตเต็มที่แล้วจะพิจารณาให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ตามข้อเท็จจริงทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม
ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์เดิม แก่นิคมฯในเขต 2 และ 3 อีก 5 ปี
เพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันของกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Custor) ในพื้นที่นิคมและเขตอุตสาหกรรมในเขต 2 และจังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมีที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขยายเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์เดิม ตามประกาศที่ป.1/2536 แก่นิคมและเขตอุตสาหกรรมในเขต 2 และจังหวัดระยองต่อไปอีก 5 ปี จนถึงสิ้นปี 2552 โดยไม่มีข้อจำกัด ว่าจะต้องเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมตามเดิมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2543 อย่างไรก็ตาม ในช่วงการขยายเวลาดังกล่าวให้มีการปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมบางประการ คือ 1.โรงงานที่ตั้งในนิคมและเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับส่วนที่จำหน่ายในประเทศ เพื่อให้มีความแตกต่างกับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับโครงการที่ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในเขต 3
2.โรงงานที่ตั้งในนิคมและเขตอุตสาหกรรมและผู้ประกอบนิคมและเขตอุตสาหกรรมในเขต 2 ยกเว้นจังหวัดระยอง ให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทั้งหมด จากเดิมที่ลดหย่อนกึ่งหนึ่ง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจนักลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้สิทธิและประโยชน์ตามเกณฑ์เดิม (ประกาศที่ป.1/2536) แก่ผู้ประกอบการนิคมและเขตอุตสาหกรรมในเขต 2 และ 3 รวมทั้งโรงงานที่ตั้งในนิคมและเขตดังกล่าว สำหรับโครงการได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้วด้วย
ไฟเขียวให้ชัยภูมิ อุบลฯ อุดรฯ หนองคาย ได้รับสิทธิประโยชน์เขต 3 พิเศษ
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นว่า ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำเพียง 27,924 บาทต่อปี ปัจจุบันแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพฯ จำนวนมาก ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและกระจายรายได้สู่ชัยภูมิมากขึ้น จึงมีมติให้จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งปัจจุบันอยู่เขตการลงทุน 3 (40 จังหวัด) ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับเขต 3 พิเศษ (18 จังหวัด) ซึ่งจะแตกต่างจากเขต 3 ปี คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 5 ปี และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จังหวัดอื่นๆ ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับชัยภูมิ และไม่ได้อยู่ในเขต 3 พิเศษ ที่ประชุมจึงเห็นควรให้จังหวัดหนองคาย อุบลราชธานี และอุดรธานี ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับเขต 3 พิเศษ เช่นเดียวกับจังหวัดชัยภูมิด้วย--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ