กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--พม.
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ งานสมัชชาขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยปฏิรูปชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “พลังผู้หญิงไทยกับการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๖๓,๘๗๘,๒๖๗ คน เป็นผู้ชาย ๓๑,๔๕๑,๘๐๑ คน เป็นผู้หญิง ๓๒,๔๖๒,๔๖๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๙ ของประชากรของประเทศ ซึ่งถือว่าผู้หญิงและผู้ชายมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน แต่หากมองภาพของการเป็นตัวแทนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กลับพบว่าผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาน้อยกว่าผู้ชาย อันเนื่องจากความคิดความเชื่อดั้งเดิมของคนในสังคม ที่เห็นว่าอะไรเหมาะสมกับหญิง อะไรเหมาะสมกับชาย เช่น ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน ดูแลผู้ป่วย คนชราได้ดีกว่า ผู้ชายทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลได้ดีกว่า เป็นต้น นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้มีการจำกัดโอกาสการพัฒนาศักยภาพของทั้งหญิงและชาย มีการกีดกัน มีอคติ และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ที่ไม่เป็นธรรมทางเพศ เห็นได้จากอาชีพหรือการเรียนบางสาขายังรับเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง และด้วยการขัดเกลาของสังคมทำให้ผู้หญิงและผู้ชายไม่กล้าออกนอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหา คือ ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนาที่แท้จริง เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายไม่ตระหนักว่านโยบายและโครงการพัฒนาบางอย่างมีผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้โอกาสของผู้หญิงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาน้อยกว่าผู้ชาย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลประชากรในวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น ๕๒.๗ ล้านคน เป็นประชากรหญิง ๒๗.๑ ล้านคน และประชากรชาย ๒๕.๖ ล้านคน แต่ประชากรหญิงที่อยู่ในวัยทำงานมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานจำนวน ๑๗.๖ ล้านคน ประชากรชายมีกำลังแรงงานจำนวน ๒๐.๙ ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนกำลังแรงงานของประชากรหญิงกับจำนวนประชากรหญิงวัยแรงงานพบว่าน้อยกว่าประชากรชาย เนื่องจากกำลังแรงงานส่วนหนึ่งของประชากรหญิงประมาณ ๔.๔ ล้านคน เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว นอกจากนี้แรงงานผู้หญิงส่วนใหญ่ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บริหาร แม้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเพียง ๒ คน เท่านั้น ซึ่งโดยหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ในการตัดสินใจ เมื่อสังคมมีผู้หญิงเป็นองค์ประกอบครึ่งหนึ่ง ผู้หญิงจึงควรเป็นตัวแทนของประชาชนตามสัดส่วนด้วย เนื่องจาก ความต้องการของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน ปัญหาของผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่กำหนดนโยบายจึงควรมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงและของผู้ชายได้อย่างแท้จริง
นางสาวอนุตตมา กล่าวต่อว่า ผู้หญิงไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยเริ่มจากครอบครัว และชุมชน เพราะหากครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย สำหรับปัญหาบางปัญหาหากชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ ย่อมดีกว่าการรอภาครัฐเข้ามาจัดการ ตัวอย่างเช่น ชุมชนครูชุบ ยอดแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน(การออมทรัพย์) ผู้ริเริ่มแนวคิดเศรษฐศาสตร์ชุมชนหรือเศรษฐศาสตร์พื้นบ้าน โดยนำความคิดรวบยอดจากกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนมาผนวกกับการใช้การศึกษาเข้ามาเป็นฐานเพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เศรษฐศาสตร์ชุมชนก็คือ กลุ่มออมทรัพย์อันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของชาวบ้านในเรื่องการจัดการเงินทุนของตนเองและครอบครัว โดยประสานเชื่อมโยงกับสังคมวัฒนธรรม จิตใจ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน การออมทรัพย์นอกจากทำให้สามารถกอบกู้เศรษฐกิจในครัวเรือนได้แล้ว ยังสามารถนำมาซึ่งการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศชาติได้อีกด้วย หรือ คุณศิริพร ปัญญาเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัย ที่มุ่งมั่นพัฒนา อบต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จนเป็น อบต. ที่ปราศจากปัญหายาเสพติดและความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้งบประมาณของ อบต. ที่มีเพียงน้อยนิด ด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าเราลืมสร้างถนน สร้างสะพานปีนี้ ปีหน้าเรายังทำได้ มันยังไม่เสียหายมากมาย แต่ถ้าเราลืมสร้างคนปีนี้ ปีหน้าเราอาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ ฉะนั้นการสร้างคนจึงเป็นเรื่องแรกที่เราคิดถึงมาตลอด” เป็นต้น แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของชุมชน โดยไม่พึ่งหน่วยงานภาครัฐและสามารถดูแลคนในชุมชนให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ตาม “ขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทยเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในระดับชุมชนทั้งในเมืองและชนบท และได้มีการประสานงานทำงานร่วมกันมานานหลายปี ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักแก่ผู้หญิงให้มีความภาคภูมิใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะปัญหาของสตรี เพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาวอนุตตมา กล่าว.