Bangkok--28 May--สป.
“ท่าอากาศยาน” เป็นรูปแบบหนึ่งที่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบการผลิตและการพาณิชย์ระดับโลก แม้จะมีการมุ่งสร้างให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีความทันสมัย เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ยังมีปัญหา อุปสรรคในอีกหลายประการ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการในภาคธุรกิจต่างๆไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการขนส่งที่สูง ซึ่งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการขนส่งของประเทศ
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.55 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ และการท่องเที่ยว เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดระดมความคิดเห็น“ ยุทธศาสตร์การขนส่งทางอากาศ : กรณีศึกษาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ” ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น
โดยมีนายสมควร รวิวัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ เปิดการสัมมนา และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางสุภาพรรณ์ ธนียวัน ที่ปรึกษาคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการฯ , นายพีระพล ถาวรศุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร , นายคทา วีณิณ เจ้าหน้าที่อาวุโส ศูนย์บริหารพื้นที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้าการท่าอากาศสุวรรณภูมิ , นายธนัท สุวรรณเมธากุล รองอธิบดีกรมศุลกากร และนางอุไร จูฑากาญจน์ อุปนายก คนที่ 1 สมาคมตัวแทนการขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) ร่วมนำเสนอข้อมูล
ทั้งนี้ การสัมมนาได้กล่าวถึงโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ปรับปรุงระบบบริหารจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ การพัฒนาและปรับปรุงระบบ Airport Cargo Community System (ACCS) สำหรับติดตาม ควบคุม ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของสินค้าในเขตปลอดอากร , การพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตส่งหรือพาวัสดุอันตรายหรือสัตว์ไปกับอากาศยานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ (National Single Window) และความท้าทายในอนาคตที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับหลายประเทศที่แข่งขันกันเพื่อเป็นศูนย์กลางการบิน (Hub) ต่อไปประเทศเพื่อนบ้านจะเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเที่ยวบินตรงสู่ต่างประเทศมากขึ้น จึงถือว่าขณะนี้การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำเป็นต้องมีการวางแผนในระยะยาว ซึ่งในที่ประชุมได้มีการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
- การพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ต้องสามารถตอบสนองการเดินทาง และการขนส่งสินค้าได้อย่างทั่วถึง โดยมุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งอาเซียน (Hub) เร่งพัฒนาให้การขนส่งสาธารณะ ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน มีความคล่องตัวในการเดินทาง (Mobility) โดยการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถรับความถี่ของเที่ยวบินได้อย่างพอเพียง
- เปิดเสรีทางการค้า โดยเปิดน่านฟ้าเสรี , เปิดเขตปลอดพิธีการศุลกากร (Free Zone) ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าที่กรมศุลกากรพิจารณาอนุญาต และการนำเข้า-ส่งออกสินค้าตามปกติ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การรักษาความปลอดภัย X-Ray สินค้าเข้าออก จัดการสินค้าในคลังสินค้า
- ขยายเส้นทางการบินครอบคลุมทั่วโลก เป็นศูนย์กลาง Logistic ของโลกด้านอาหาร แฟชั่น พันธุ์ไม้ อิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเอเชียใต้
- ควรปรับปรุงกฎหมายศุลกากร โครงสร้างภาษีอากร ซึ่งส่งผลต่อจุดการกระจายสินค้านานาชาติ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเชื่อมโยงระบบการขนส่งต่างๆ ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง และทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการขนส่ง (Hub) ได้อย่างแท้จริง
ซึ่งผลจากการสัมมนาในครั้งนี้ คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการฯ จะได้นำข้อเสนอจากที่ประชุมไปรวบรวม ประมวลผล และสังเคราะห์ข้อมูลในการพัฒนาศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป