กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. จับมือ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตต้นแม่พันธุ์และกิ่งพันธุ์ปลอดโรคส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างทักษะการขยายพันธุ์ส้มโอให้แก่เกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง หวังช่วยแก้ปัญหาความล้มเหลวในการปลูกส้มโออันเกิดจากการติดเชื้อของกิ่งพันธุ์
รองศาสตราจารย์ ดร.รัตนา สดุดี อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการผลิตต้นแม่พันธุ์และกิ่งพันธุ์ปลอดโรคของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวเกษตรชาวไร่ส้มโอ มักประสบปัญหาการระบาดของโรคทริสเตซาและโรคฮวงลองบิง ซึ่งเชื้อมักเข้าไปทำลายตั้งแต่ระยะกิ่งพันธุ์ส่งผลให้ต้นตายก่อนให้ผลผลิต ทำให้เกษตรกรชาวไร่ส้มโอต้องประสบปัญหาขาดทุนจากการเพาะปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ม.อ. จึงร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำโครงการวิจัยการผลิตต้นแม่พันธุ์และกิ่งพันธุ์ปลอดโรคของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ซึ่งใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 1 ปี 6 เดือน โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดปริมาณเชื้อในแปลงปลูก ด้วยเทคนิคการเสียบยอดขนาดเล็กในหลอดทดลองและวิธีการตอนกิ่งจากต้นปลอดโรคในแปลงปลูก โดยได้เลือกพื้นที่ปลูกส้มโอในเขตลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องจากพระราชดำริเป็นกรณีศึกษา ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์พื้นที่ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามจากเกษตรกรในเขตพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ จากผลการทำวิจัยพบว่า สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคทริสเตซาและโรคฮวงลองบิงในส้มโอได้น้อยลง นอกจากนี้ ผลผลิตของส้มโอมีขนาดใหญ่ สีผิวสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการส่งออก
ด้านนายวิฑูร อินทมณี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในเขตลุ่มน้ำปากพนัง เกิดจากการนำกิ่งพันธุ์ที่เป็นโรคมาขยายพันธุ์ต่อ ทำให้เกิดโรคระบาดในส้มโอต่อเนื่องไปยังหลายพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจาก ม.อ. ซึ่งมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการกำจัดศัตรูพืช กับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการผลิตกิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรค โดยเน้นที่กิ่งส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช การเข้าช่วยเหลือครั้งนี้ส่งผลให้เกษตรกรมีความตื่นตัว รู้จักวิธีการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงมากยิ่งขึ้น และรู้จักวิธีการขยายพันธุ์ที่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น
ขณะที่นายวิรัช สุขแสง หนึ่งในเกษตรกรผู้อนุเคราะห์พื้นที่ปลูกส้มโอในการทำวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ตนยึดอาชีพปลูกส้มโอมาแล้ว 12 ปี โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 50 กว่าไร่เพื่อนำผลผลิตส่งจำหน่ายไปยังกรุงเทพฯ และส่งไปต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีนและไต้หวัน ซึ่งการผลิตกิ่งพันธุ์ปลอดโรคของส้มโอที่นอกจากจะช่วยลดการระบาดของโรคในส้มโอพันธุ์ทับทิมแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการผลิตกิ่งส้มโอปลอดโรคเพื่อจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็พร้อมที่จะนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่ได้จาก ม.อ. ไปถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรชาวไร่ส้มโอรายอื่นต่อไป
สำหรับโครงการวิจัยการผลิตต้นแม่พันธุ์และกิ่งพันธุ์ปลอดโรคของส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดมาจากงานวิจัยในหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมา ได้แก่ การฟื้นฟูการผลิตส้มจุกในภาคใต้ของประเทศไทย โดยการผลิตต้นแม่พันธุ์และตาขยายพันธุ์ปลอดโรคไปสู่เกษตรกร การพัฒนาโรงเรือนผลิตกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรค โครงการพัฒนาวิธีการทางเซรุ่มวิทยาเพื่อวินิจฉัยโรคทริสเตซาของส้มในประเทศไทย เป็นต้น และในอนาคต ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังคงจะดำเนินการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป