กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--พริส ไพออริตี้
คุณเคยรู้จักสปุตนิกไหม? รู้หรือไม่ว่ามันคือดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งความสำเร็จนี้ ก่อให้เกิดแรงบันดาลในการสรรค์สร้างและพัฒนาสิ่งใหม่ตามมาอย่างไม่หยุดยั้ง คุณเคยถามตัวเองไหม? ทำอย่างไรให้เป็นคนที่โดดเด่นและนอกกรอบ พร้อมรับเทรนด์แห่งอนาคตและจุดประกายความสร้างสรรค์สำหรับโลกอนาคต ล่าสุด อ.เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานบริหาร และ Chief Creative Officer มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ ขอเป็นคำตอบของคำถามนี้ กับงานเปิดตัวคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะใหม่ล่าสุด ผ่านการจัดเวิร์กช็อปพิเศษ “สถาปัตย์ สปุตนิก : คิดต่างคิดใหม่ไปไกลระดับโลก” เปิดสมอง ฝึกฝีมือ วัดแววว่าที่สถาปนิกระดับโลก พร้อมมอบทุนการศึกษา 100,000 จำนวน 3 ทุน เพื่อเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แก่ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่สร้างสรรค์และพรีเซนต์ผลงานได้โดดเด่นเห็นแววสถาปนิก ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับทุนการศึกษา ได้แก่ น้องชานุชิต ดานิชสกุล, น้องพงศธร ไร่จันทึก และน้องภัทรพงษ์ คุ้มทองมาก ท่ามกลางเพื่อนพ้องและคณาจารย์ร่วมยินดีจำนวนมาก ณ อาคาร BU Landmark มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต
อ.เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานบริหาร และ Chief Creative Officer มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า “เราเป็นมหาวิทยาลัยความคิดสร้างสรรค์ คณะที่เราเปิดใหม่นี้จึงมุ่งสร้างสรรค์พลังและอนาคตของประเทศ เราเชื่อว่าเราจะสร้างมากกว่านักออกแบบ แต่เด็กจะได้รับการเตรียมความรู้ที่ก้าวไปทันกับโลกอนาคต เวิร์ก ช็อปที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เราต้องการเปิดมุมมองแนวคิดใหม่ของคนที่สนใจงานสถาปัตย์ กับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อฝึกความครีเอทีฟที่แตกต่างจากพรสวรรค์ เพราะความครีเอทีฟฝึกฝนได้ด้วยการฝึกคิดนอกกรอบ ในที่นี่ไม่ใช่นอกกรอบสังคม แต่หมายถึงนอกกรอบความคิดของเราเอง นอกกรอบเดิมจากสิ่งที่เราคิด โดยมีสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์เอื้ออำนวย ในการรังสรรค์ไอเดียแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้ตลอด ทำให้คุณแตกต่างและเหนือกว่าเสมอ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการก้าวไปไกลสู่ระดับโลก”
โดยกิจกรรมเวิร์กช็อป “สถาปัตย์ สปุตนิก : คิดต่างคิดใหม่ไปไกลระดับโลก” นี้ ช่วงเช้ามีการเปิดสมองฟังมุมมองสถาปนิกชั้นนำร่วมพูดคุยในหัวข้อ “สถาปนิกอินเตอร์….สถาปัตยกรรมแห่งอนาคต” โดย อ.สมิตร โอบายะวาทย์ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนายกสมาคมสถาปนิกสยาม, อ.วิรัตน์ รัตตากร คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยกรุงเทพ ในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น สถาปนิกอาเซียน ในกรอบการเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียน 2558 (2015) กับวิชาชีพสถาปนิกไทย, สถาปนิกไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร สู้สถาปนิกรอบๆ บ้านเราได้ไหม ตลอดจนพูดถึง "โอกาส" "ข้อจำกัด" "อุปสรรค" "ความได้เปรียบ" ต่างๆ, สถาปนิกไทยกับโลกไร้พรมแดน เราจะตั้งรับหรือเราจะบุกไปในตลาดอินเตอร์ ระบบการศึกษาจะต้องพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้สถาปนิกใหม่อย่างไร นอกจากนั้น ยังมีประเด็นสถาปนิกไทยกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กำหนดอนาคตสถาปัตยกรรมได้หรือไม่ ออกแบบ คิดใหม่ คิดต่าง หรือลอกแบบ ทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้นำทางความคิด และท้ายสุด สถาปัตยกรรมในเมืองไทยจะก้าวตามโลกาภิวัฒน์ หรือจะขายของเดิมๆ Green, Energy Saving, Technology, Culture เราจะเน้นอะไรดี พร้อมพบแขกรับเชิญพิเศษ ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Art4D ที่จะมาร่วมเผยมุมมอง วิสัยทัศน์สำหรับวงการสถาปนิกในอนาคตอย่างน่าสนใจ จากนั้น สนุกกับกิจกรรมเวิร์กช็อป “ดีส อีส นอท อะ บ็อกซ์” (This is not a box) ภายใต้โจทย์คือการให้โฟมขนาดเหมือนกล่องรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 20x20x20 เซนติเมตร คนละ 1 กล่อง และให้สร้างสรรค์ผลงานอะไรก็ได้ให้มันไม่ใช่กล่องเหมือนเดิม ภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดย อ.ปิตุพงศ์ เชาวกุล อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และสถาปนิกแห่ง Supermachine ที่รับรองว่าผู้เข้าร่วมต้องสนุกและเพลิดเพลินกับกิจกรรมนี้อย่างแน่นอน
ส่วนในช่วงบ่ายชมการนำเสนอผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป หลังจากนั้น คณะกรรมการ ได้แก่ อ.วสุ วิรัชศิลป์, อ.สุรชัย เอกภพโยธิน, อ.ทวิตีย์ วัชราภัย, อ.ปิตุพงษ์ เชาวกุล และและอ.จุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ ได้ทำการคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัล ก่อนจะประกาศผลการตัดสินผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพที่เพิ่งเปิดล่าสุด ทุนละ 100,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 3 ทุน ซึ่งผลปรากฏว่าน้องที่โชว์ไอเดียแจ๋งจนพิชิตทุนการศึกษาได้นั้น ได้แก่ น้องชานุชิต ดานิชสกุล อายุ 19 ปี จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี กล่าวว่า “ดีใจมากครับที่ได้รับทุน ผมถือว่าเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นโบนัสชีวิตให้กับตัวเอง แรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้ ตามโจทย์ที่ให้เราทำอย่างไรก็ได้ให้กล่องไม่ใช่กล่อง อย่างแรกเลยผมคิดจะทำอย่างไรก็ได้ให้แตกต่างจากคนอื่น โดยคิดว่าทุกคนต้องทำให้กล่องไม่ใช่กล่อง โดยการตัด แกะสลัก เป็นรูปร่างต่างๆ แต่ผมจะทำให้มันเป็นกล่อง แต่ให้คนที่มองเห็นว่าไม่ใช่กล่อง โดยคนอื่นๆ อาจต้องการถ่ายทอดความคิดให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่ผมต้องการให้ทุกคนเข้ามาถึงความรู้สึกของผมว่าต้องการจะสื่ออะไรมากกว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนสถาปัตย์ คือ ความสามารถในการออกแบบงาน ให้อะไรที่มันเปิดกว้างมากกว่างานอื่นๆ ผมสามารถใส่ความคิดของตัวเองได้อย่างอิสระ หลังเรียนจบผมอยากสร้างที่สักที่หนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักหรือความยุติธรรมก็ได้ ให้ทุกคนผ่อนคลายกับสิ่งที่ผมสร้างขึ้นครับ”
ต่อมาเป็น น้องพงศธร ไร่จันทึก อายุ 19 ปี จากโรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ผมดีใจมากที่ได้รับทุน และไม่คิดว่าจะได้ ผลงานของผมได้แรงบันดาลใจมาจากรองเท้าของเพื่อนข้างๆ ครับ คือทรงรองเท้ามันจะสูงๆ ขึ้นมารัดข้อเท้า ผมก็เลยมองว่ามันน่าจะเป็นเก้าอี้ได้ ใช้พิงได้ และน่าจะใช้ประโยชน์ได้ด้วย ผมคิดว่าการเรียนสถาปัตย์นอกจากจะพัฒนาทักษะความรู้เรื่องการออกแบบแล้ว ยังสามารถพัฒนาในด้านความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นทางการเรียนหรือการบริหารเวลาได้ด้วย ความฝันของผม ผมอยากเป็นสถาปนิก อยากสร้างตึก และสร้างมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเอง ให้คนมาเรียน และสร้างคณะสถาปัตย์ พร้อมกับพัฒนาให้มหาวิทยาลัยของผมมีชื่อเสียงครับ”
ท้ายสุด น้องภัทรพงษ์ คุ้มทองมาก อายุ 18 ปี จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ได้รับทุนผมดีใจมากครับ ไม่คิดว่าจะได้ด้วย โจทย์คือกล่องที่ไม่ใช่กล่อง และโดยปกติแล้วกล่องก็เป็นสี่เหลี่ยมๆ มีสี่ด้าน มีเพดานและพื้น แต่ผมได้ตัดออกทั้งหมดเลยครับ เหลือแค่เสากลวงๆ แค่นั้นเอง แรงบันดาลใจก็มาจากโจทย์ที่ให้มาเลยครับ สิ่งที่ทำให้ผมอยากเรียนคณะปัตย์เป็นเพราะว่าผมไม่ค่อยชอบการท่องจำ แต่ผมชอบวาดรูป และความรู้จากการเรียนสถาปัตย์ที่ผมจะได้รับอย่างแรกเลย คือ ความคิดสร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ถ้าเรียนจบแล้วผมฝันอยากเป็นสถาปนิกที่ดี สร้างผลงานให้ได้รับรางวัล และสิ่งแรกที่ผมจะทำก็คือ ผมอยากสร้างบ้านเป็นของตัวเองครับ”
“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เปิดการเรียนการสอนปีนี้เป็นปีแรก โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นคณะสถาปัตย์แนวใหม่ที่ดีที่สุด ออกแบบหลักสูตรโดยสถาปนิกมืออาชีพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต แตกต่างและเหนือกว่าด้วยหลักสูตรสองภาษาที่ทันสมัยที่สุด คณะของเรายังให้ความสำคัญเรื่องผู้สอนที่เป็นทั้งอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นนักวิชาชีพจริงๆ ที่สำคัญบรรยากาศการเรียน ยังล้อมรอบด้วยสิ่งแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุด เรามีแหล่งเรียนรู้และสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ อาคาร BU Landmark Complex ได้รับรางวัลนานาชาติ The ARCASIA Awards 2011 จากองค์กรสถาปนิกเอเซีย, อาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับรางวัล ASA Green Awards และรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบัน หรืออาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, อาคาร Admissions and Information Center ได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์หรืออาคารสำนักงาน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาคาร Bangkok University International College ได้รับเหรียญเงินสถาปัตยกรรม ในประเภทอาคารสถาบันหรืออาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังนั้น เราเชื่อมั่นว่าเราสร้างมากกว่านักออกแบบหรือสถาปนิกแน่นอน” วิรัตน์ รัตตากร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวปิดท้าย
ผู้ที่สนใจสมัครเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สามารถสมัครหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2902-0299 ต่อ 2612 หรือ www.bu.ac.th