กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งหาความปลอดภัยให้พะยูน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 15, 2004 09:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งหาความปลอดภัยให้พะยูนนายอุดม ปาติยะเสวี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลแและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการวิจัยร่วมกันในการศึกษาเสียงพะยูน (Acoustic survey of Dugong dugon) ทั้งนี้เพื่อต้องการศึกษาพฤติกรรมของพะยูนจากเสียง และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทยโครงการวิจัยครั้งนี้มีกำหนดการวิจัยประมาณ 5 ปี โดยใช้พื้นที่บริเวณนอกชายฝั่งของ เกาะตะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และบริเวณอ่าวมะขามป้อม อ.แกลง จ.ระยอง เป็นพื้นที่ทำการวิจัย ซึ่งวิธีการศึกษาวิจัยนั้นแบ่งเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการหย่อนไฮโดรโฟนจากเรือวิจัยลงไปใต้น้ำที่ระยะห่างจากฝั่งประมาณ 2-5 ก.ม.โดยไม่ต้องเข้าใกล้ฝูงพะยูน เพื่อดักฟังเสียงแล้วนำมาวิเคราะห์ รวมทั้งอาจมีการใช้เครื่องบินเล็กตรวจสอบจำนวนพะยูนในบริเวณพื้นที่ศึกษาด้วยสำหรับการศึกษาครั้งที่สองจะทำโดยการใช้อุปกรณ์ไฮโดรโฟน และหน่วยความจำที่เรียกรวมๆ ว่า data logger วางไว้ใต้น้ำเป็นจำนวน 10 เครื่อง ในระยะห่างกันเครื่องละประมาณ 100 เมตร โดยวางเป็นแนวตั้งฉากจากชายฝั่งของเกาะตะลิบงบริเวณอ่าวทุ่งจีน เป็นเวลา 10 วัน โดยได้ทำการทดลองไปแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสามารถบันทึกเสียงพะยูน และนำเสียงไปวิเคราะห์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงจะสรุปผลวิเคราะห์เบื้องต้นได้ “โครงการวิจัยการศึกษาเสียงพะยูนครั้งนี้ จะทำให้เราได้รู้ถึงพฤติกรรมของพะยูนมากขึ้นว่ามีการสื่อสารระหว่างกันหรือไม่ แต่ละเพศ วัย มีการเปล่งเสียงต่างกันหรือเปล่า ซึ่งหากแต่ละตัวมีเสียงต่างกันก็อาจนำมาประเมินจำนวนของพะยูนได้
นอกจากนั้นยังสามารถนำมาคำนวณความเร็วของพะยูน และยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้ตรวจสอบติดตามพะยูน ตลอดจนตรวจหาพะยูนในเวลากลางคืนได้และที่สำคัญยังสามารถลดอัตราการตาย หรือการติดเครื่องมือประมงได้ โดยอาจมีการประยุกต์เอาไฮโดรโฟนไปติดเครื่องมือประมงชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการที่พะยูนจะมาติด ซึ่งหากพะยูนเข้ามาใกล้ชาวประมงก็จะทราบและระมัดระวังในการใช้เครื่องมือ หรืออาจทำระบบอัตโนมัติให้ปิดเครื่องมือเมื่อพะยูนเข้าใกล้ เช่น ปิดปากโป๊ะก่อนที่พะยูนจะเข้าไป รวมทั้งอาจมีการปล่อยเสียงใต้น้ำให้พะยูนตกใจและว่ายเปลี่ยนทิศทางหนีไป
หากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบผลสำเร็จก็จะทำให้สัตว์ทะเลหายากของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200 ตัว ได้รับความปลอดภัยและมีชีวิตรอดขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย” นายอุดม กล่าวในที่สุด
ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
49 พระราม 6 ซอย 30 ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ 10400 http://www.deqp.go.th.
โทรศัพท์/โทรสาร: 0-2298-5852-3--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ