กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
วานนี้ (30 พ.ค.55) เวลา 8.30 น. นางอองซานซูจี เดินทางมาจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อมาเยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ประมาณ 300,000 คน
นางอองซานซูจีได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานข้ามชาติในชุมชนตลาดกุ้ง และมายังศูนย์เรียนรู้เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติซึ่งได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ 30 คน ผู้แทนเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ผู้แทนแรงงานไทย ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และผู้แทนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัดงานต้อนรับการเดินทางมาสมุทรสาครของอองซานซูจี
นางอองซานซูจีได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจำนวน 30 คนได้พูดคุยอย่างใกล้ชิด เพื่อเสนอปัญหาของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งตัวแทนแรงงานข้ามชาติได้นำเสนอปัญหากรณีที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานแต่ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน การถูกนายหน้าแสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการต่างๆ เช่น การพิสูจน์สัญชาติ การต่อวีซ่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ การเข้าถึงการศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย กรณีที่แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแต่ยังไม่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมและการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การถูกข่มขืน ชิงทรัพย์ ซึ่งนางอองซานซูจีได้รับทราบสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว และขอให้แรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทยเรียนรู้สิทธิและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน มีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนางอองซานซูจีจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพูดคุยกับรัฐบาลของสองประเทศ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
หลังจากรับฟังสถานการณ์ปัญหาจากตัวแทนแรงงานข้ามชาติแล้ว นางอองซานซูจีได้เดินออกมาปราศรัยให้กับผู้ที่มาต้อนรับอีกครั้งหนึ่ง โดยแจ้งว่าได้รับทราบปัญหาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแล้ว และจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้ดีขึ้น และขอให้แรงงานข้ามชาติทุกคนมีความสามัคคี มีการรวมตัวในชุมชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้รู้หน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเอง โดยนางอองซานซูจีจะคอยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
นางสาวปรียาภรณ์ ขันกำเหนิด ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เห็นว่า “การเดินทางมาประเทศไทยของนางอองซานซูจี ซึี่งเป็นการเดินทางออกนอกประเทศพม่าครั้งแรกในรอบหลายปีหลังจากถูกปล่อยตัวจากการกักบริเวณกว่า 16 ปี ซึ่งนางซูจีได้เลือกที่จะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในวันแรกที่เดินทางมาถึงนั้น เป็นนิมิตรหมายอันดี ที่แสดงให้เห็นว่านางอองซานซูจี และนานาชาติให้ความสนใจกับสภาพความเป็นอยู่และปัญหาสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การพัฒนานโยบายในระดับชาติ และความรวมมือระหว่างประเทศ เพื่อการให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติทั้งจากประเทศพม่าและประเทศอื่น ๆ ตามมาตรฐานสากลต่อไป”
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)