อพท. จัดงานสุดอลังการ “งานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน” วันที่ ๑ - ๔ มิ.ย.นี้ ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ข่าวท่องเที่ยว Thursday May 31, 2012 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--อพท. วันที่ ๑ — ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้จัดงาน มหกรรมท่องเที่ยวชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบการจัดตั้ง อพท. ปีที่ ๙ “ก้าวใหม่ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ ก้าวตามวิถีไทย สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเวทีประชาคมอาเซียน” ณ สำนักงานพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ งานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน นับเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ ๙ ปี เนื่องจากได้เชิญคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ผู้บริหาร พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงาน อพท. คณะทำงานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนรัฐวิสาหกิจ สมาคมท่องเที่ยว นักวิชาการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดเชียงใหม่ และผู้สื่อข่าวส่วนกลางกรุงเทพฯ และผู้นำชุมชนในพื้นที่พิเศษทั้ง ๗ แห่ง คือ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.๑) พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สพพ.๒) พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.๓) พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (สพพ.๔) พื้นที่พิเศษเลย (สพพ.๕) พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน(สพพ.๖) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ อพท. ที่ปฏิบัติงานมาครบ ๙ ขวบปี รวมผู้ร่วมงานกว่า ๕๐๐ คน ถือเป็นการรวมพลผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในงานครั้งยิ่งใหญ่นี้ เพื่อร่วมกันอวยพรเนื่องในโอกาสครบรอบการจัดตั้ง อพท. และยังเป็นการแสดงพลังของชุมชนในพื้นที่พิเศษทั้ง ๗ แห่งที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนไปพร้อมกับ อพท. การจัดงานวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๘.๓๐ น. ณ พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้จัดให้มี Welcome Party โดยผู้ร่วมงานทั้งหมดจะได้สัมผัสกับกลิ่นอายความเป็นล้านนาตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินทางมาถึง เมื่อก้าวลงจากรถ กลองสะบัดชัยก็จะบรรเลงต้อนรับท่านผู้มีเกียรติ และสาวงามก็จะคล้องพวงมาลัยและพาเดินไป บริเวณลานริมน้ำ ได้เนรมิตให้มี พรมดอกไม้ และสาวงามที่ร่ายรำอย่างชดช้อยวิจิตรตระการตา “เทวีล้านนา ไหว้สาแขกแก้ว” รับประทานอาหารค่ำ “กาดมั่ว-คัวแลง” พร้อมกับชมการแสดงแสงสีเสียงน้ำพุดนตรี “สู่ขวัญล้านนา แดนทิพย์แก้ว” ที่สวยสดงดงาม และการแสดงพื้นบ้าน จำนวน ๓ ชุด นอกจากนี้ ยังได้จัดนิทรรศการ ๙ จุดสำคัญ เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของ อพท. และการแสดงผลงานของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ๗ แห่ง โดยมียุวชน อพท. พร้อมผู้นำชุมชนในพื้นที่พิเศษร่วมเป็นวิทยากรชี้แจงข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่ผู้ร่วมงาน วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๘.๕๐ น. เริ่มงานด้วยการเปิด Video Presentation เพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของ อพท. และวีถีชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ และการแสดงลำตัดโบราณที่หาชมได้ยาก ของตำบลตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี โดยเวลา ๙.๐๐ น. จะเข้าสู่ช่วงพิธีเปิดงานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน กล่าวรายงานโดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. โดยมี นายวัลลภ พลอยทับทิม ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) กล่าวเปิดงาน เวลา ๙.๔๐ น. เชิญรับฟังสุนทรพจน์ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสรรค์สร้างชุมชนสันติสุข” โดยนักเรียนผู้ชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ จากโครงการประกวดสุนทรพจน์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เวลา ๑๐.๒๐ น. ปาฐกถาพิเศษ “ชุมชนท่องเที่ยวตามวิถีที่พอเพียง” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี สำหรับช่วงพักกลางวันได้จัดอาหารไว้รับรองต้อนรับผู้ร่วมงานทุกท่าน เวลา ๑๓.๐๐ น. เข้าสู่ช่วงไฮไลท์สำหรับของงาน การบรรยายพิเศษเรื่อง “๙ ปี สู่ความก้าวหน้าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : Low Carbon Tourism และ Creative Tourism และนโยบาย อพท.” โดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. เวลา ๑๔.๐๐ น. ผู้นำชุมชน ๗ พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขึ้นเวทีเสวนา “ท่องเที่ยวชุมชน จากพื้นที่พิเศษสู่สังคมไทย” ผู้ดำเนินรายการคือ นางนิรมล เมธีสุวกุล หลังรับประทานอาหารว่าง เวลา ๑๕.๔๕ น. เข้าสู่ช่วงเสวนา “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : ก้าวใหม่ ก้าวยิ่งใหญ่สู่เวทีประชาคมอาเซียน” โดยนายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นางสุชาดา ยุวบูรณ์ ประธานบริหารโรงแรมโรส การ์เด้น ริเวอร์ไซต์ และนางดวงกมล จันสุริยวงศ์ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ผู้ดำเนินรายการคือ ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ช่วงค่ำเวลา ๑๙.๐๐ น. เชิญรับประทานอาหารที่ ร้านอาหารคุ้มขันโตก และเก็บภาพความประทับใจกับการลอยโคม ๕๐๐ โคมลอยละล่องสู่ท้องฟ้า และดื่มดำไปกับอาหารรสเลิศไปพร้อมกับชมการแสดงพื้นบ้านจากชาวบ้านในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง ๗ แห่ง สำหรับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ เวลา ๗.๓๐ น. ได้จัดพิธีกรรมทำบุญทางศาสนาในโอกาสวันครบรอบการจัดตั้ง อพท.ปีที่ ๙ โดยมี ช้างแสนรู้ต้อนรับแขกอย่างอบอุ่น หลังจากนั้นจะลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชน ๗ แห่ง เวลา ๙.๓๐ — ๑๒.๓๐ น. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ บ้านเหมืองกุง ชมผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ บ้านถวาย ศึกษาการผลิตกระดาษสาที่ บ้านบ่อสร้าง เดินทางไปแหล่งโบราณคดีที่ เวียงกุมกาม ศึกษาดูงานการผลิตไม้กลึงที่ บ้านตองกาย และวิถีชนเผ่าในเขตเมือง การปลูกผักปลอดสารพิษที่ บ้านสันลมจอย และสิ้นสุดการดูงานชุมชนที่ บ้านไร่กองขิง ซึ่งมีความเข้มแข็งในเรื่องสหกรณ์และการออมทรัพย์ของชุมชน หลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ก็จะเดินทางกลับมาที่พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกท่านได้แบ่งกลุ่มเพื่อนำเสนอผลการศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวแทนผู้นำชุมชนทั้ง ๗ หมู่บ้านในพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เวลา ๑๕.๔๕ น. ผ่อนคลายอิริยาบถกับงานเสวนา “เรื่องเล่าจากชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ” โดยชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว (สพพ.๑) เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ๓ ตำบล (สพพ.๒) ชุมชนบ้านซากแง้ว (สพพ.๓) ผู้แทนชุมชน (สพพ.๔) ผู้แทนชุมชนตำบลปลาบ่า (สพพ.๕) ผู้แทนชุมชน (สพพ.๖) และผู้แทนชุมชนตำบลอู่ทอง (สพพ.๗) และในช่วงเวลา ๑๗.๐๐ ได้จัดให้มีการ สรุปงานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน โดยนางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. และเวลา ๑๘.๐๐ น. ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวปิดงานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน ช่วงค่ำชมการแสดงน้ำพุดนตรีและรับฟังดนตรีอันไพเราะจากคุณมัม ลาโคนิค ไปพร้อมกับรับประทานอาหารค่ำ โดยเวลา ๑๙.๓๐ น. ยังได้จัดให้มีทริปการท่องเที่ยวชมสัตว์กลางคืนไนท์ซาฟารีอีกด้วย การจัดงานมหกรรมท่องเที่ยวชุมชน จึงถือเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนในพื้นที่พิเศษที่เดินทางมาร่วมงานจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยมี สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. เป็นแกนกลางในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ และชูจุดเด่นของแต่ละชุมชนเข้าสู่กระบวนการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่ผ่านการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในปี ๒๕๕๕ นี้ จำนวน ๑๓ ชุมชน ซึ่งต้องพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนในชุมชน เพื่อท้ายที่สุดแล้ว...ชุมชนทุกแห่งในพื้นที่พิเศษ ก็จะใช้ การบริการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่ง อพท.เป็นผู้ดูแลและสนับสนุน เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสร้างรายได้ที่แท้จริงโดยชุมชนเป็นผู้บริหารและจัดการตนเอง และเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่พื้นที่อื่นที่ไม่ได้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ติดต่อสอบถามได้ที่ ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท. Chomphunut981@gmail.com และ chompunuth.t@dasta.or.th 084-163-7599

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ