กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ผลการศึกษาระดับโลกของซิสโก้เผยผลการศึกษาความท้าทายด้านเน็ตเวิร์คของบุคลากรฝ่ายไอที 13 ประเทศในการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นไปสู่ระบบคลาวด์ตอกย้ำ ‘ความจำเป็น’ ในการปรับปรุงเน็ตเวิร์คให้พร้อมสำหรับการนำธุรกิจไปสู่ระบบคลาวด์
ปัจจุบัน คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการรองรับแอพพลิเคชั่นทางด้านธุรกิจ และผู้บริหารฝ่ายไอทีจำนวนมากต้องประสบปัญหาท้าทายในการปรับปรุงโครงสร้างเน็ตเวิร์คที่มีอยู่เพื่อรองรับการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นทางด้านธุรกิจไปสู่ระบบคลาวด์ วันนี้ซิสโก้ได้เปิดเผยผลการศึกษาระดับโลก ซึ่งระบุว่า หากปราศจากแนวทางหรือกลยุทธ์ในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ที่เหมาะสมผู้บริหารฝ่ายไอทีมากกว่าหนึ่งในสาม (38 เปอร์เซ็นต์) ยอมลำบากในการรักษารากฟันหรือเผชิญความยุ่งยากในการทำรายการภาษีด้วยตนเองมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเน็ตเวิร์คเพื่อรองรับระบบคลาวด์ทั้งแบบไพรเวทและพับบลิค
ผลการศึกษาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของเน็ตเวิร์คคลาวด์ (Cloud Networking) รวมถึงความคาดหวังของฝ่ายไอทีกับความเป็นจริงของเน็ตเวิร์ค นอกจากนี้ยังมีการสำรวจประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายไอทีเกี่ยวกับระดับความยากและเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการอัพเดตเน็ตเวิร์คและโยกย้ายแอพพลิเคชั่นไปสู่ระบบคลาวด์
การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเน็ตเวิร์คคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ ชี้ว่าแอพพลิเคชั่นเป็นส่วนสำคัญที่สุดต่อองค์กรธุรกิจในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ เช่นเดียวกับความท้าทายด้านเน็ตเวิร์คและปัญหาการหยุดชะงักของระบบระหว่างการดำเนินการ นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังได้ศึกษาระยะเวลาในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ (Cloud Migration) รวมถึงความมั่นใจของบุคลากรฝ่ายไอทีในการปรับปรุงเน็ตเวิร์คของตนเองเพื่อรองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนระบบคลาวด์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ เปิดเผยว่า การปรับปรุงเน็ตเวิร์คให้ทันสมัยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ การที่จะประสบความสำเร็จในการย้ายแอพพลิเคชั่นที่มีจำนวนมากขึ้นไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าเครือข่ายที่พร้อมรองรับระบบคลาวด์ (37 เปอร์เซ็นต์) เป็นองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด แซงหน้าดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ช่วลไลซ์ (28 เปอร์เซ็นต์) และข้อตกลงว่าด้วยระดับการให้บริการ (SLA) จากผู้ให้บริการคลาวด์ (21 เปอร์เซ็นต์)
ผลการสำรวจนี้ต่อยอดจากดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (Cisco Global Cloud Index) ที่คาดการณ์ว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดการประมวลผลในดาต้าเซ็นเตอร์จะอยู่บนระบบคลาวด์ภายในปี 2557 และแทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าภายในปี 2558 จนแตะระดับ 1.6 เซตตาไบต์ต่อปี ซึ่งเท่ากับความยาวของวิดีโอที่มีความยาวถึง 4 วันของประชากรบนโลกปัจจุบัน
ภาพรวม
ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ ซึ่งมีผู้บริหารฝ่ายไอที (IT Decision makers) กว่า 1,300 คนจาก 13 ประเทศเข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดการปรับใช้บริการคลาวด์โดยบุคลากรไอทีทั่วโลก พร้อมทั้งสำรวจปัญหาท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์
การสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากซิสโก้ และนำออกเผยแพร่โดย Insight Express โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับปัญหาท้าทายทางด้านเครือข่ายในการโยกย้ายไปสู่บริการคลาวด์
ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
รายงานฉบับสมบูรณ์มีอยู่ที่ http://www.cisco.com/go/cloudsurvey
ประเด็นสำคัญ
การปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในอนาคต
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสองในห้า (39 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่า ตนเองรู้สึกกลัวปัญหาและความท้าทายทางด้านเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค จนถึงขั้นยอมที่จะรักษารากฟันหรือเผชิญความยุ่งยากในการทำรายการภาษีด้วยตนเองดีกว่าที่จะแก้ปัญหาด้านเครือข่ายให้มีความพร้อมสำหรับการปรับใช้คลาวด์
ขณะเดียวกัน เกือบสามในสี่ (73 เปอร์เซ็นต์) มีความมั่นใจในข้อมูลและความรู้ที่เพียงพอในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค อย่างไรก็ตามส่วนที่เหลือ (27 เปอร์เซ็นต์) รู้สึกว่าตนเองมีความรู้เรื่องวิธีการเล่นเกม Angry Birds มากกว่าวิธีการจำเป็นในการโยกย้ายเครือข่ายและแอพพลิเคชั่นของบริษัทไปสู่ระบบคลาวด์
ฝ่ายไอทีของหลายๆ องค์กรกำลังพิจารณาและวางแผนเกี่ยวกับการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ โดยเกือบหนึ่งในสี่ (24 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริหารฝ่ายไอทีระบุว่า ในหกเดือนข้างหน้า ตนเองมีแนวโน้มที่จะเห็นยานอวกาศ ม้ายูนิคอร์น หรือผี ก่อนที่จะเห็นบริษัทของตนเองเริ่มดำเนินการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์จนเสร็จสมบูรณ์
หากไม่มีกระบวนการและการวางแผนที่เหมาะสม กว่าหนึ่งในสี่ (31 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองจะสามารถฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนโดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นของบริษัทไปสู่ระบบคลาวด์
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (76 เปอร์เซ็นต์) คาดการณ์ว่าแอพพลิเคชั่นคลาวด์ของตนเองมีแนวโน้มที่จะถูกละเมิด โดยมีเพียงหนึ่งในสี่ (24 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้นที่มั่นใจว่ามีโอกาสที่ตนเองจะถูกฟ้าผ่ามากกว่าที่แอพพลิเคชั่นคลาวด์ของบริษัทจะถูกละเมิดอย่างไม่พึงประสงค์โดยบุคคลที่สาม
คาดว่าการปรับใช้ระบบคลาวด์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในสิ้นปี 2555
ปัจจุบันมีผู้บริหารฝ่ายไอทีเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถโยกย้ายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์ และภายในสิ้นปี 2555 จำนวนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหนึ่งในห้า (20 เปอร์เซ็นต์) จะปรับใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรับใช้ระบบคลาวด์
เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการย้ายแอพพลิเคชั่นมากขึ้นไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าเครือข่ายที่พร้อมรองรับระบบคลาวด์ (37 เปอร์เซ็นต์) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด แซงหน้าดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ช่วลไลซ์ (28 เปอร์เซ็นต์) และข้อตกลงว่าด้วยระดับการให้บริการ (SLA) จากผู้ให้บริการคลาวด์ (21 เปอร์เซ็นต์)
อุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการโยกย้ายสู่ระบบคลาวด์
ระหว่างการดำเนินการโยกย้ายสู่ระบบคลาวด์ ความปลอดภัยของข้อมูล (72 เปอร์เซ็นต์) ถูกระบุว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคทางด้านเครือข่ายที่สำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรไม่ประสบความสำเร็จในการปรับใช้บริการคลาวด์ ตามด้วยความพร้อมในการใช้งาน/เสถียรภาพของแอพพลิเคชั่นคลาวด์ (67 เปอร์เซ็นต์), การรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์ (66 เปอร์เซ็นต์), ความสามารถในการตรวจสอบและควบคุมแอพพลิเคชั่นบนเครือข่าย WAN (60 เปอร์เซ็นต์) และประสิทธิภาพโดยรวมของแอพพลิเคชั่น (60 เปอร์เซ็นต์)
แอพพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์
หากสามารถเลือกแอพพลิเคชั่นที่จะย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ได้เพียงอย่างเดียว ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะเลือกสตอเรจ (25 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยแอพพลิเคชั่นการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กร (ERP) เพื่อบริหารจัดการ HR, ระบบการจัดการงานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM), การจัดการซัพพลายเชน (SCM) และระบบจัดการโครงการ (20 เปอร์เซ็นต์) และต่อจากนั้นก็คือ ระบบอีเมล (16 เปอร์เซ็นต์) และโซลูชั่นการทำงานร่วมกัน (15 เปอร์เซ็นต์)
การตรวจสอบสภาพความเป็นจริงของสถานะของการโยกย้ายคลาวด์แอพพลิเคชั่น
เมื่อถามว่ามีแอพพลิเคชั่นใดได้ถูกโยกย้ายไปแล้ว หรือมีแผนว่าจะย้ายไปยังระบบคลาวด์แบบพับบลิคหรือไพรเวทในปีหน้า ผู้บริหารฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ตอบว่า อีเมลและเว็บเซอร์วิส (77 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยสตอเรจ (74 เปอร์เซ็นต์) และโซลูชั่นการทำงานร่วมกัน เช่น การประชุมผ่านเว็บ และระบบรับส่งข้อความ Instant Messaging (72 เปอร์เซ็นต์)
ระยะเวลาที่คาดว่าจะต้องใช้สำหรับการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์
เมื่อถามเกี่ยวกับการคาดการณ์ของระยะเวลาที่ใช้ในการโอนย้ายแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น การประชุมผ่านเว็บ, สตอเรจ และอีเมล์ไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทจะใช้เวลานานกว่าระบบคลาวด์แบบพับบลิค นอกจากนี้ เมื่อขอให้ประเมินระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการโยกย้ายระบบคลาวด์สำหรับแอพพลิเคชั่น บุคลากรฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ระบุว่าการดำเนินการจะใช้เวลาน้อยกว่า 6 เดือน
สถานะและอุปสรรคในการปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อป
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแผนการปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อป ผู้บริหารฝ่ายไอที 79 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในปัจจุบันหรืออนาคต ขณะที่ 25 เปอร์เซ็นต์กำลังใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อปอยู่แล้วในปัจจุบัน และ 35 เปอร์เซ็นต์มีแผนที่จะทำในปีหน้า ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์มีแผนที่จะปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อปภายใน 1-3 ปีข้างหน้า
เมื่อถามถึงอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนเป็นเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ค่าใช้จ่าย (46 เปอร์เซ็นต์) คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด รองลงมาคือ แบนด์วิธที่จำเป็นต้องใช้ (45 เปอร์เซ็นต์), ประสิทธิภาพของเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป (VDI) ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของเครือข่าย WAN (37 เปอร์เซ็นต์), การผนวกรวมเข้ากับเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป (34 เปอร์เซ็นต์) และความซับซ้อนในการปรับใช้ (33 เปอร์เซ็นต์)
เมื่อถามถึงเหตุผลในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถาม 52 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรธุรกิจหรือ CIO เพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัว ขณะที่ 41 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า เพียงแค่ดำเนินการตามแนวโน้มอุตสาหกรรมหรือองค์กรอื่นๆ เท่านั้น และ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเพราะความต้องการของลูกค้า
แหล่งข้อมูลที่ช่วยตัดสินใจในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์
ผู้ให้บริการคลาวด์คือซอร์สหลักในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการคลาวด์และช่วยตัดสินใจในการปรับใช้ระบบคลาวด์ (25 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม (16 เปอร์เซ็นต์), องค์กรอื่นๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมเดียวกัน (15 เปอร์เซ็นต์) และบริษัทผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (14 เปอร์เซ็นต์)
ประสบการณ์ส่วนตัวของบุคลากรฝ่ายไอทีในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพเครือข่าย
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสองในห้า (39 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองไม่ไว้ใจผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับการจัดการดูแลข้อมูลส่วนตัว เช่น เวชระเบียน และหมายเลขประกันสังคม
กว่าครึ่งหนึ่ง (52 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริหารฝ่ายไอทีระบุว่าตนเองมีประสบการณ์การใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยรวมที่บ้านโดยใช้เครือข่ายส่วนตัว ‘ดีกว่า’ เครือข่ายของที่ทำงาน
ดร. ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนื่องจากการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องตระหนักถึงขั้นตอนที่จำเป็นในการวางแผนโมเดลของระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร ผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (Cisco Global Cloud Networking Survey) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่องค์กรต่างๆ กำลังประสบพบเจอในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดรับกับการใช้งานจริงเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจเข้าใจปัญหาท้าทายในการเตรียมเครือข่ายให้พร้อมสำหรับบริการคลาวด์”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและประชาสัมพันธ์ข่าวโดย
วราวอง จงรักษ์
บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร: 0 2971 3711
อีเมล์ warawong@pc-a.co.th