กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย
โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นอักเสบหรือการอักเสบของพังผืด หรือเส้นเอ็นอักเสบ
สาเหตุ เกิดจากการใช้มือทำงานในท่ากำมือและแบอย่างแรงซ้ำๆ บ่อยๆ พบบ่อยในแม่บ้าน ผู้ชอบเล่นกอล์ฟ เทนนิส เป็นต้น โรคนิ้วล็อกจะพบในผู้หญิงราวร้อยละ 60 ในผู้ชายร้อยละ 40 แต่จะพบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่
อาการนิ้วล็อก แบ่งตามระดับของความรุนแรง ดังนี้
ระดับที่ 1นิ้วไม่มีการล็อก แต่นิ้วมือจะรู้สึกฝืด เวลาเหยียดหรืองอนิ้วมือในตอนเช้าหรือในอากาศเย็นๆ
ระดับที่ 2นิ้วมือจะงอและเหยียดมีเสียงดัง แต่ยังคงเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว
ระดับที่ 3นิ้วมือเวลางอหรือเหยียดจะมีเสียงดัง และล็อก ต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาเหยียดออก และจะมี อาการปวด
ระดับที่ 4นิ้วมือจะล็อก และทำให้นิ้วเหยียดออกหรืองอไม่ได้เลย
การรักษานิ้วล็อก แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การรักษาโดยการฉีดยา
ผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่ระดับที่ 1 — 3 จะแนะนำให้ฉีดยา สเตียรอยด์เฉพาะที่ จะได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรายงานบางแห่งได้ผลดีและหายถึงกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 30 - 40 อาการล็อกจะกลับมาเป็นอีกได้ ในกลุ่มที่กลับมาเป็นใหม่นี้ จะให้มีการฉีดยาสเตียรอยด์ซ้ำได้ 2 - 3 ครั้ง โอกาสที่จะดีขึ้น และหายจะมีบ้างแต่น้อยมาก แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ซ้ำ ๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น
วิธีที่ 2 การรักษาโดยการผ่าตัด จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
การผ่าตัดในห้องผ่าตัด ใน กรณีที่นิ้วล็อกได้รับการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่มีอาการดีขึ้นชั่วระยะหนึ่ง แล้วยังคงมีอาการล็อกอยู่ การทำผ่าตัดโดยวิธีนี้จะทำในห้องผ่าตัดใหญ่ ต้องฉีดยาชา มีแผลผ่าตัดและมีไหมเย็บด้วย
การรักษาโดยการเจาะ ( Percutaneous release )เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ทำในกรณีที่ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ได้ผลดีชั่วระยะหนึ่งแล้วยังคงมีอาการล็อกอยู่ ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าวิธีแรกและกลับไปทำงานได้เร็วกว่า วิธีการรักษา โดยวิธีเจาะนี้ เริ่มทำกันมาในปี ค.ศ. 1958 โดย Lortioir จากนั้นก็มีแพทย์หลายท่านที่รายงานได้ผลดี เช่น Eastwood , Bain , Pope and Wolfe โดยมีการใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 18 , 19 หรือ 21 เข้าไปตัดปลอกเอ็นที่รัดออก Ha และพวกดัดแปลงเครื่องมือ ในการรักษาโดยวิธีเจาะเช่นกัน ส่วนใหญ่จะทำได้รวดเร็วง่ายและปลอดภัยกว่าวิธีแรกมาก
ภาพแสดงเครื่องมือที่ใช้รักษานิ้วล็อกโดยวิธีการเจาะเครื่องมือนี้ดัดแปลง มาจากเครื่องมือขูดหินปูนของทันตแพทย์
โดยได้มีการนำเครื่องมือขูดหินปูนของทันตแพทย์ มาดัดแปลงมาทำการรักษานิ้วล็อก ได้ผลดีมาก เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ข้อดีของการรักษาโดยวิธีนี้คือ
1. สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ใช้เวลาในการรักษาไม่เกิน 10 นาที
2. เสียค่าใช้จ่ายน้อย
3. ปลอดภัย มีโรคแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้เร็วกว่าวิธีการผ่าตัดในห้องผ่าตัด
แพทย์ที่จะรักษาโดยวิธีเจาะ (Percutaneous release) จะต้องเป็นแพทย์ที่มีการฝึกฝน อบรม จนมีประสบการณ์สูง จะทำให้ผลการรักษาดีมาก
ข้อมูลโดย
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ
รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย โทร 1792
www.vichaivej.com
http://facebook.com/vichaivej
ติดต่อ:
กชกนก ข้อสกุล
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย
โทร.02-431-0070 ต่อ 1325,089-122-3588