กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--TK park
จากการประชุมวิชาการประจำปี “TK Conference on Reading : TKCR 2012” ระหว่างวันที่10-11 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.)หรือ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านนโยบายการอ่าน ส่งเสริมการอ่านและแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจกันและกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2558 ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่เรายังคงมีความหลากหลายที่แตกต่างกัน มีโจทย์ข้อใหญ่และความท้าทายอีกมากที่ต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับกับการเป็นประชาคมอาเซียน เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะรู้จัก เข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน รวมถึงการนำเอาความหลากหลายเหล่านี้มาร่วมกันสร้างประโยชน์บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของความร่วมมือกันอย่างยั่งยืน
“การอ่านและการเรียนรู้คือกลไกสำคัญของการรู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น นำไปสู่ความเข้าใจระหว่างประชาชนในอาเซียน เป็นกลไกที่หนุนเสริมให้ความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศมีความแน่นแฟ้นได้ไม่ยาก แต่ระดับความสามารถในการอ่านและการเรียนรู้ของแต่ละประเทศยังไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นการพัฒนาคุณภาพคนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของนานาชาติ จะนำมาสู่การมองเห็นโอกาสใหม่ จากสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการยกระดับสังคมอาเซียนให้เป็นสังคมความรู้อย่างแท้จริง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันพัฒนาคนไทยในฐานะพลเมืองอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วยการอ่าน มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้อย่างเท่าทัน สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”
ด้าน ดร.เอ็น วรประสาท อดีตผู้บริหารสูงสุดคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ หนึ่งในผู้ร่วมบรรยายในการประชุม TKCR 2012 กล่าวถึงประโยชน์ทางปัญญาและสังคมของการอ่านตลอดชีวิตว่า การสร้างนิสัยให้คนรักการอ่าน จะเป็นต้องสร้างตั้งแต่เด็กๆ และต้องไม่หยุดที่จะอ่านแม้จะเป็นผู้สูงอายุหรือวัยชราก็ตาม เพราะการอ่านหนังสือเป็นประจำ จะทำให้คนมีภูมิความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก
“การสร้างนิสัยรักการอ่าน ต้องฝึกฝนตั้งแต่เด็กๆ หากเด็กวัยนี้ไม่ได้รับการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้น อาจเป็นตัวชี้วัดว่าเด็กคนนั้นอาจสอบตกหรือเรียนไม่จบ เพราะการอ่านเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถทางปัญญาของเด็กที่จะถอดรหัสหรือเชื่อมโยง รวมถึงซึมซับและเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เพราะการอ่านคือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ทั้งปวง การอ่านทำให้เราเข้าถึงองค์ความรู้
ได้มากขึ้น และทักษะการอ่านถือเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาไปได้ไกลกว่าความสามารถทางภาษา รวมถึงการอ่านยังช่วยรักษาทักษะทางจิตใจและทางสังคม’
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดของการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน คือ ภาษาและการศึกษา โดยเฉพาะคนไทยนั้นค่อนข้างเสียเปรียบด้านภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จึงมองว่าไทยต้องวางเป้าหมายการจัดการด้านการศึกษาให้ชัดเจน โดยจะต้องยกเครื่องเรื่องภาษา การคิด และความรู้พื้นฐานให้มากขึ้น รวมถึงการเปิดกว้างการเรียนรู้และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย
“การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบได้ทั้งดีและไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะเสียประโยชน์ ฉะนั้นเราจึงต้องมีกลไกที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวหรือการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศ”
ขณะที่นายคาล คานน์ ผู้อำนวยการโครงการ Room to Read Cambodia จากประเทศกัมพูชา กล่าวถึงสถานการณ์การอ่านของกัมพูชาว่า กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนาน แต่ต้องตกอยู่ในช่วงของการตกเป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มเขมรแดง กว่าจะกลับมามีสันติภาพจริงๆ อีกครั้ง กัมพูชาก็แทบจะเหมือนกับประเทศสร้างใหม่ที่ต้องเริ่มจากศูนย์ โดยเฉพาะโครงสร้างต่างๆ และระบบการศึกษา ที่ขาดแคลนทรัพยากรทุกด้านทั้งงบประมาณและบุคลากรวิชาชีพครู ทำให้ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบการศึกษาครั้งใหญ่
“รัฐบาลหันมาให้ความสนใจด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการอ่าน โดยให้เด็กเข้าถึงหนังสือ ในห้องสมุดมากขึ้น มีการจัดทำ โครงการและการรณรงค์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม การสร้างวัฒนธรรมการอ่านควรเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และโรงเรียน ไปจนถึงระดับสังคม ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก”
ด้านผู้ร่วมบรรยายหญิงหนึ่งเดียวจากประเทศบรูไนดารุสซาลาม เนลลี่ ดาโต๊ะ พาดูกะ ฮาจจี ซันนี่ ประธานสมาคมห้องสมุดบรูไน กล่าว ตนพยายามผลักดันให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติแม้จะล้มเหลวมาหลายครั้ง แต่ล่าสุดเริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อรัฐบาลบรูไนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าว มีความพยายามในการส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ห้องสมุด องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการอ่านเป็นเรื่องของทุกคนในชาติและเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ส่วน ดร. ถั่น ทอ คอง ผู้อำนวยการมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า และประธานบริษัทศูนย์หนังสือพม่า กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพม่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาหลายอย่าง ทั้งเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา เพิ่มการศึกษาขั้นอุดมศึกษาจาก 3 ปีเป็น 4 ปี ฯลฯ แต่ปัญหาคือการขาดแคลนหนังสือภาษาพม่า และรัฐบาลยังไม่สามารถดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่าร้อยละ 70 จากประชากรทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน ที่ยังคงอาศัยอยู่ในชนบทและเป็นคนยากจน จึงยังคงต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกมาก
โดยในการอภิปราย “สู่ความเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยหนังสือและการอ่าน” ยังได้มีการแสดงความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับเรื่อง “การอ่านกันและกัน” ว่า ควรมีการแปลหนังสือเด่นๆ ของสมาชิกอาเซียนเป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่อให้คนในแต่ละประเทศได้อ่านเรื่องราวของอีกประเทศหนึ่งเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนหนังสือหรือจัดทำหลักสูตรในสถานศึกษา รวมถึงการจัดทำ “หนังสืออาเซียน” โดยนำเรื่องที่มีเนื้อหาเรื่องราวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลในด้านของจิตใจ ที่จะผนึกให้คนในประชาคมมีอารมณ์ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวได้
“การอ่านกันและกัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น โดยเราจะไม่นำเรื่องราวความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตมาตอกย้ำ แต่การอ่านประวัติศาสตร์ เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ความผิดพลาด และนำมาปรับปรุง ป้องกัน ไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นซ้ำรอยเดิม รวมถึงการหาจุดร่วมในการพัฒนาเพื่อให้ประเด็นปัญหาต่างๆ หมดไป และหาวิธีที่จะประสานกันเข้าเป็นพลเมืองอาเซียนที่ดีในอนาคต”
“หนังสือและการอ่าน” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำความรู้จักและเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น เพื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียวและก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนได้เป็นอย่างดี