กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต 1
“เยาวชนเหล่านี้ควรจะได้บริโภคอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ โดยโรงเรียนจัดให้มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ขึ้นภายในโรงเรียน หรือสถานที่ใกล้เคียง เพื่อให้โรงเรียนมีรายได้จากการประกอบกิจกรรมดังกล่าว และนำมาเป็นค่าอาหารกลางวันนักเรียนตลอดไป…”
จากแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาโภชนาการเพื่อเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ในปี 2523 จึงเกิด “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ขึ้น ซึ่งโครงการจากพระเมตตาต่อเยาวชนไทยนี้ ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ ที่สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ต่อไป
ดร.อภิชัย กรมเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธรเขต 1 ( ผอ.สพป.ยโสธร เขต 1 ) เผยว่า โรงเรียนบ้านเหล่าฝ้าย จัดเป็นสถานศึกษาพอเพียง พัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง จากความมุ่งมั่นและความร่วมมือร่วมใจของคณะครู ผู้บริหาร ตลอดจนนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ภายใต้การบริหารสถานศึกษาของ นายพิสิทธิ์ ไชยช่วย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่าฝ้าย ที่โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียนบ้านเหล่าฝ้ายอ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) จำนวน 141,000 บาท โดย
ทางโรงเรียนได้จัดสรรงบประมาณ ดังนี้
- ส่งครูผู้รับผิดชอบเข้ารับการอบรมด้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่
- ซื้อแม่พันธุ์ไก่
- ค่าอาหาร และค่ายา
เด็กๆนักเรียนกำลังขะมักเขม้นกับการให้อาหารแม่ไก่กว่า 50 ตัว บ้างก็กำลังง่วนกับการทำความสะอาดโรงเรือน ตรวจสอบการไข่ของแม่ไก่ พร้อมทั้งลงบันทึก(การเก็บไข่) ให้อาหาร และจำหน่ายผลผลิต โดยมีคุณครูรอบรัตน์ พึ่งกิจ ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ที่คอยแนะนำอยู่ไม่ห่าง และในขณะนี้โครงการฯ มีผลผลิตวันละประมาณ 45-50 ฟอง/วัน หรือประมาณวันละ 95%
คุณครูรอยรัตน์ บอกว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่นี้เป็นประโยชน์กับโรงเรียนและเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะเด็กๆ ในโรงเรียนทั้ง 123 คน จะได้มีไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีโอกาสได้เห็นและเข้าใจในกระบวนการเลี้ยงไก่จากการปฏิบัติจริง ซึ่งก่อนนี้จะเห็นแต่เพียงในตำราเท่านั้น นอกจากนี้ การได้มีโอกาสทำงานร่วมกันของนักเรียน ยังเท่ากับการได้เรียนรู้ในวิชาสังคมศึกษาฯ เพราะในแต่ละวันที่เด็กๆ มาเลี้ยงไก่ไข่ ต้องมีการวางแผนการเลี้ยงและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน จากนั้นก็จะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ต่างๆ จึงเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ สำหรับประโยชน์ที่โรงเรียนจะได้รับคือ การมีห้องเรียนอาชีพจริงๆ ให้นักเรียนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในรายวิชาเพิ่มเติม ที่นักเรียนชั้นประถม 4 ต้องเรียน
ผลที่ได้จากการให้นักเรียนฝึกเลี้ยงไก่ไข่มีมากมาย นักเรียนได้เรียนรู้จักการแก้ไขปัญหา มีความขยันหมั่นเพียร อดทนรู้จักการรอคอย เรียนรู้การจำหน่าย การตลาด การกำหนดราคาไข่ ได้ความสามัคคี รู้จักบริหารเวลาในการดูแลให้อาหารโดยไม่ให้เสียเวลาในการเรียนหรืองานประจำ เด็กมีความรอบคอบในการเก็บไข่อย่างไรไม่ให้แตก เด็ก ๆ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ นอกจากโรงเรียนจะมีไข่ไก่สำหรับโครงการอาหารกลางวันอย่างเพียงพอแล้ว ไข่ที่เหลือยังนำไปจำหน่ายเก็บเงินไว้เป็นทุนสำหรับการเลี้ยงไก่ในรุ่นต่อไป นักเรียนได้เรียนรู้การบริหารจัดการร่วมกัน รู้จักการแบ่งหน้าที่ มีความรักเมตตาต่อสัตว์ วันข้างหน้ายุวเกษตรกรเหล่านี้อาจนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาจนกลายเป็นเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ก็เป็นได้
สามารถดุภาพข่าวได้ http://www.obec.go.th/news/20769