กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะกระดูกพรุน หรือ กระดูกบาง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่ลดลงอย่างรวดเร็วจนต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเป็นของระบบสรีระวิทยา ซึ่งจะเกิดในวัยทอง ซึ่งมีผลทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ แม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นได้ทุกระบบของร่างกาย แต่หากร่างกายขาดฮอร์โมนเพศนาน ๆ ก็จะเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งจะทำให้เนื้อกระดูกบางลง เกิดการทำลายเซลล์กระดูกเพิ่มมากขึ้น และการสร้างเซลล์กระดูกก็จะหมดลง โรคกระดูกพรุนนั้น จากการศึกษาพบว่ากระดูกจะเริ่มบางลงตั้งแต่อายุ ๓๕ ปี ในช่วงอายุ ๔๕ - ๕๐ ปี กระดูกจะบางลงประมาณ ๓ - ๘ % สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ ๕๕ ปี กระดูกจะบางลง ๒๐ - ๓๐ % และเมื่ออายุ ๖๕ - ๗๐ ปี กระดูกอาจจะบางถึง ๓๐ - ๕๐ % ซึ่งในช่วงนี้กระดูกจะหักได้ง่าย ควรระมัดระวังผู้สูงอายุให้ดีด้วย
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน เพศนั้นมีส่วนสำคัญ เพราะเพศหญิงจะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าเพศชาย และเกิดมากกว่าและเร็วกว่าด้วย โรคนี้จะเกิดกับคนที่ไม่เคยมีบุตรมากกว่าคนที่เคยมีบุตร ส่วนการออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญมาก เพราะการออกกำลังมาก ๆ กระดูกจะมีการเคลื่อนไหว ทำงานหนักทำให้เนื้อกระดูกหนาขึ้น ส่งผลให้กระดูกแข็งแรง ทนทานกว่า พวกที่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย และการรับแสงแดดก็ยังมีส่วนทำให้กระดูกแข็งแรง เพราะถ้าร่างกายได้รับแสงในปริมาณที่พอเหมาะจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระดูก และควรรับแสงประมาณ ๓๐ - ๖๐ นาทีต่อสัปดาห์ นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นเหตุให้เกิดกระดูกพรุนมากขึ้นด้วย การป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น นอกจากการรับประทานฮอร์โมนทดแทนจากที่ร่างกายขาดไปนั้น ยังไม่เพียงพอ การป้องกันควรเริ่มตั้งแต่เป็นเด็ก โดยควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณเพียงพอต่อร่างกาย เช่น นมถั่วเหลือง ตำลึง ผักคะน้า งาดำ ฯลฯ สำหรับเด็กควรดื่มนม ในปริมาณมาก เพื่อสะสมแคลเซียมไว้มาก ๆ ส่วนในผู้สูงอายุควรดื่มนมที่มีไขมันต่ำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก โรคกระดูกพรุนนั้นในผู้สูงอายุควรเอาใจใส่และระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะกระดูกจะเปราะบางและหักง่าย การรักษาจะทำได้ยากขึ้น และนอกจากนั้นการดูแลเอาใจใส่โรคผู้สูงอายุทางร่างกายแล้ว ยังต้องดูแลเอาใจใส่จิตใจของท่านด้วย--จบ--
-นท-