ทริสเรทติ้งทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ "บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์"

ข่าวทั่วไป Thursday June 17, 2004 08:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด ที่ระดับ "A-" และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยสะท้อนความสามารถของคณะกรรมการและทีมผู้บริหาร สภาพคล่องที่เพียงพอ และการบริหารสินทรัพย์ที่ดีของบริษัท รวมทั้งยังสะท้อนแนวโน้มที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ในระยะปานกลางซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวน และแม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทจะเริ่มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 แต่บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งทางการตลาดที่เข้มแข็งในธุรกิจหลักได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บล. เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ก่อตั้งในปี 2539 ตามแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และเป็นบริษัทแห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับบริษัทหลักทรัพย์และเป็นช่องทางของทางการในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจของบริษัทในช่วงแรกคือการจัดสรรเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ต่อมาได้ขยายสู่ธุรกิจการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์แก่นักลงทุนซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา บทบาทของบริษัทในการเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์มีไม่มากนักจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ยากลำบาก บริษัทบริหารเงินทุนส่วนเกินที่มีอยู่ด้วยการนำไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ ทำให้ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา โครงสร้างสินทรัพย์ของบริษัทส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ และแหล่งรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากเงินปันผลจากเงินลงทุนแทนที่จะมาจากธุรกิจหลัก บริษัทได้ขออนุญาตดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์เพิ่มเติม ได้แก่ การให้สินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การให้สินเชื่อแก่กรรมการและพนักงานเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการจัดสรร (ESOP) การให้กู้ยืมแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งในแบบการจำหน่ายแบบเฉพาะเจาะจง (PP) การจำหน่ายให้แก่นักลงทุนเป็นครั้งแรก (IPO) และการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่แล้วแก่นักลงทุนทั่วไป (PO) นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการออกหนังสือสัญญาให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) เพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือจากการจำหน่ายและการค้ำประกันกองทุนรวมด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจหลักได้ในปี 2546 จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฟื้นตัวอย่างมากและจากการที่ผู้บริหารของบริษัทสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ส่งผลให้ยอดเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้มากจาก 170 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ 3,405 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 8% ณ สิ้นปี 2545 เป็น 22% ณ สิ้นปี 2546 บริษัทได้ขยายการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องจนมียอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2547 เท่ากับ 4,745 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 34% สินทรัพย์ของบริษัทขยายตัวขึ้นมากจาก 6,330 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ 11,117 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งขยายตัวมากถึง 76% บริษัทจัดหาเงินทุนเพื่อการเติบโตครั้งใหญ่นี้ด้วยการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ ส่งผลให้ยอดเงินกู้ยืมของบริษัท ณ สิ้นปี 2546 อยู่ที่ 8,018 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 64% จาก 4,899 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2545 ซึ่งแม้ว่าจะทำให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ลดต่ำลงจาก 22% ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ 17.4% ณ สิ้นปี 2546 แต่ก็ยังคงพอเพียง นอกจากนี้ ความพยายามของบริษัทในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์เพิ่มเติมเริ่มส่งผลหลังจากที่บริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่หลายประเภทซึ่งรวมถึงการค้ำประกันกองทุนรวมและการให้สินเชื่อแก่กรรมการและพนักงานเพื่อซื้อหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจใหม่ดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากพอให้แก่บริษัทในขณะนี้ โดยส่วนใหญ่บริษัทจะให้สินเชื่อที่มีหลักประกันโดยมีระบบติดตามตรวจสอบสินเชื่อที่ดีซึ่งช่วยควบคุมให้บริษัทมีหลักประกันที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงได้ ณ สิ้นปี 2546 ยอดเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักประกันอยู่ในระดับต่ำเพียง 34%สินทรัพย์ของบริษัท ณ สิ้นปี 2546 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็น 56% ของสินทรัพย์รวม ในขณะที่บริษัทมีเงินให้กู้ยืมสุทธิคิดเป็น 33% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2545 สัดส่วนเงินให้กู้ยืมสุทธิต่อสินทรัพย์รวมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีต่อๆ ไป รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังคงมาจากเงินปันผลจากหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็น 92% ของรายได้รวมในปี 2546 อย่างไรก็ตาม คาดว่าดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของบริษัทในอนาคต ความสามารถในการบริหารจัดการการลงทุนทำให้บริษัทมีผลกำไรติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ในปี 2546 แม้ว่าเงินทุนจะลดลงจากการขยายตัวอย่างมากของเงินให้กู้ยืม แต่บริษัทก็ยังคงมีเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจตามปกติ นอกจากนี้ บริษัทยังพิจารณาจัดหาเงินทุนระยะยาวด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 2 สำหรับรองรับการเติบโตทางธุรกิจ และพยายามเพิ่มความหลากหลายของแหล่งรายได้เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์ โดยทริสเรทติ้งเห็นว่าธุรกิจใหม่ของบริษัทซึ่งบางประเภทเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมยังคงต้องพิสูจน์ความสามารถในการสร้างผลกำไรที่สม่ำเสมอต่อไป--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ