ค่าย 2B-KMUTT รู้ตัวชัวร์ก่อนเลือกคณะที่ใช่ในรั้วมหาวิทยาลัย

ข่าวทั่วไป Tuesday June 5, 2012 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เด็กม.ปลายเฮ! ค่าย 2B-KMUTTสร้างกระบวนการค้นหาตัวเอง ก่อนเลือกทางเดินในคณะที่ใช่ที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัย เน้น “บ่มเพาะ” วิศวกร นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ผ่านการลงมือทำวิจัยจริงกับนักวิจัยมืออาชีพ ด้านอธิการบดีชี้การทำงานวิจัยและพัฒนาสามารถให้ความสนุกและท้าทายไม่น้อยกว่าสายธุรกิจและบันเทิง ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ที่เด็กๆ ต้องเลือกเส้นทางแห่งอนาคตให้กับตัวเอง ต้องเลือกว่าจะเรียนอะไร ทั้งๆที่หลายคนยังค้นหาตัวเองไม่เจอแต่ด้วยสถานการณ์ที่เร่งรัดให้ต้องรีบ จึงเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจว่า “ใช่”สำหรับตัวเองหรือเปล่า สุดท้ายก็เกิดปัญหาเมื่อเข้ามาเรียนแล้วก็รู้ว่ามัน“ไม่ใช่”บางคนต้องเสียเวลา เสียเงินเพื่อกลับไปเลือกทางเส้นใหม่ บางคนยอมอดทนเดินต่อไปบนเส้นทางที่เลือกแล้วแม้จะไม่มีความสุข แต่จะดีกว่าหรือไม่...หากช่วงชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้มีโอกาส ค้นหา สิ่งที่ “ใช่” ก่อนที่พวกเขาจะเลือกทางเดินให้ตัวเอง โครงการ 2B-KMUTTเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหรือ มจธ.เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ 4 - 5 และอาชีวศึกษาที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ค้นหาตัวเอง ลองมาใช้ชีวิตแบบวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ต้องฝังตัวทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ และใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้จริงและลึกลงไปว่าคณะหรือสาขาวิชาที่สนใจ มีวิธีการเรียนการสอนอย่างไรและต้องใช้ชีวิตอย่างไรถ้าต้องประกอบอาชีพนี้ โดยโครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 เมษายน - 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาและจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 แล้ว รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษากล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนให้ได้ค้นพบตัวเองตั้งแต่ต้น โดยคัดเลือกนักเรียนจำนวนกว่า 200 คนที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศมาเข้าค่าย2B-KMUTT ซึ่งการคัดเลือกจะไม่เน้นที่ผลการเรียน แต่จะให้โอกาสกับคนที่มีความสามารถพื้นฐานโดดเด่น มีความพอใจและความรักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก เป้าประสงค์ของเด็กที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมค่ายนี้ต้องเป็น2B คือThe Best And The Brightestคือทั้งเก่งและดีที่สุด ผู้เข้าร่วมค่ายจะมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับทีมงานในรั้วของ มจธ.เป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ “เด็กทุกคนต้องทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ ที่แบ่งออกเป็นด้านพลังงาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรจล ด้านคอมพิวเตอร์และ IT ด้านมัลติมีเดียและอาตส์ ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวัสดุศาสตร์ และด้านการก่อสร้างและขนส่งโดยมีอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกว่า 200 คนมาเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำวิจัย การตั้งหัวข้อวิจัย เสริมกระบวนการคิด และดูแลขั้นตอนการทำวิจัยอย่างใกล้ชิด และนอกจากการเติมเต็มประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แล้ว ค่ายนี้ยังเติมเต็มประสบการณ์ด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งการให้เด็กที่อยู่ในค่ายได้ไปทำประโยชน์เพื่อสังคม มีโอกาสไปเรียนรู้งานด้านศิลปวัฒนธรรม มีโอกาสไปเยี่ยมชมพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง ทั้งหมดเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมค่ายรู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่แค่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนด้วย” ภายหลังจากการปิดค่าย เด็กๆ ทุกคนจะต้องนำผลงานวิจัยของตนเองมานำเสนอ ซึ่งผลงานต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันก่อนที่กรรมการจะให้คะแนน รศ.ดร.เชาวลิต ให้ความเห็นว่า สำหรับในปีนี้ เด็กๆ ที่ผ่านค่ายปรับตัวได้ดี และสามารถปรับตัวเองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่ได้เคยอยู่ในความสนใจมาก่อน บางคนได้ลองแล้วพบว่าสิ่งนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ ขณะเดียวกันก็มีเด็กที่ได้เข้าไปอยู่ในสาขาที่ตนเองสนใจแต่แรกและพอเข้าไปเรียนแล้วปรากฏว่าใช่จริงๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์มากที่จะทำให้เค้าค้นพบตัวเอง ดังนั้นเราจะเจอทั้งสองด้าน ทั้งคนที่มีความสุขกับสิ่งที่เค้าได้มาเจอ และคนที่ไม่มีความสุขนักกับสิ่งที่ได้เจอในช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วก็มีความสุข เมื่อสามารถปรับเปลี่ยนเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติของคนรุ่นใหม่ต้องมี คือต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม กับสังคมหรือให้เข้ากับบริบทที่ต้องอยู่ให้ได้ พรสุดา มาตวิเศษหรือ “น้องเจน”นักเรียนชั้นม.5ตัวแทนจากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม เล่าว่าจากการได้ใช้ชีวิตอยู่ในค่าย 2B-KMUTT เวลากว่า 20 วันที่ทำให้เธอเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเด็กมัธยมธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีโอกาสมากพอที่จะลงมือทำงานวิจัยได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่พอมาเจอค่ายนี้ที่มีเครื่องมือที่พร้อมสรรพ ทั้งยังมีนักวิจัยและพี่เลี้ยงมาเป็นที่ปรึกษา ทำให้สามารถทำงานวิจัยได้เหมือนกับนักวิจัยมืออาชีพ สามารถทำการทดลองได้จริง "ไม่ใช่แค่การหาข้อมูลแล้วพูดออกมาลอยๆที่นี่หนูได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องการประหยัดพลังงานในระบบปรับอากาศ ต้องศึกษากลไกการทำงานของระบบปรับอากาศทั้งหมด เรียนรู้เรื่องพลังงานที่เสียไปในระบบปรับอากาศและทำอย่างไรให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด ซึ่งก็ทำให้หนูรู้ว่าการทำวิจัยก็ไม่ได้ยากจนเกินกำลังที่จะทำ แต่ก็ไม่ได้ง่ายที่จะทำให้สำเร็จถ้าขาดพยายาม ความตั้งใจจริง ที่สำคัญการเข้าร่วมค่ายและการทำวิจัยทำให้เจน เป็นคนมีความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นคนละเอียดรอบคอบ เอาใจใส่ในงาน และใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ เพราะงานวิจัยที่เธอทำต้องมีการวัดค่า ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากนั้นเอง” ไม่ต่างจากมณฑล มีกัมปนาทนักเรียนชั้นม.5 จากโรงเรียนสมุทรปราการที่บอกว่าการทำงานวิจัยในค่ายนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาไปเลย ปกติตนใช้ชีวิตธรรมดาทั่วไป ไม่รีบเร่งอะไร แต่งานวิจัยเรื่องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหมึกพิมพ์จากยางพาราด้วยความเข้มข้นที่ต่างกัน ที่ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ต่างๆจากที่เคยใช้เรซิ่น ที่เป็นสารสังเคราะห์และมีราคาแพงมาใช้เป็นยางพาราแทน ที่ตนทำนั้นเป็นงานวิจัยระยะสั้น ทำให้ได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ต้องบริหารเวลาให้เหมาะสม วางแผนในทุกเรื่องที่จะทำ และยังสอนให้รู้ว่าถ้าขาดการวางแผนที่ดีมันก็ยากที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ นอกจากการได้ลองทำงานวิจัยแล้ว ยังมีเรื่องที่สร้างความประทับใจให้ทั้งสองคนอีกคือ ความเป็นมิตรและโอกาสที่ทางมจธ.มอบให้ “ตอนแรกหนูก็มองว่ามจธ.เป็นแค่มหาวิทยาลัยหนึ่ง แต่พอได้มาเข้าค่ายก็ได้รู้จักมากขึ้น การศึกษาที่นี่ก้าวหน้ามากเป็นที่ยอมรับของทั่วประเทศ แล้วคณะที่นี่ก็เน้นที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เครื่องมือก็พร้อมที่จะให้นักศึกษาทุกคนได้ใช้กันอย่างเต็มที่” ขณะที่มณฑล กล่าวเสริมว่า “ที่นี่มีบรรยากาศการการเรียนการสอนที่ดี ที่สำคัญอาจารย์และพี่ๆก็ให้ความเป็นมิตรสูงมาก ค่ายนี้ทำให้ผมรู้ว่าผมชอบอะไร ผมแน่ใจแล้วว่าผมชอบคอมพิวเตอร์ และผมก็จะเลือกเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็วิศวกรรมคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอน” ด้านรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญมจธ.พยายามผลักดันให้เกิดคือทำอย่างไรให้นักเรียนที่สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาเข้าค่ายนี้เห็นอนาคตของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันนักเรียนส่วนใหญ่จะเลือกเน้นไปทางสายงานบันเทิง สายงานธุรกิจ แต่คนที่สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีน้อยท่ามกลางสถานการณ์ของประเทศที่กำลังขาดแคลนคนกลุ่มนี้อย่างมาก “ดังนั้นนักเรียนจึงต้องรู้ว่าข้างหน้าเค้าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นเมื่อเค้าจบจากโรงเรียนต้องนึกให้ออกว่าเมื่อเค้าไปเรียนต่อมันไม่ใช่แค่เรื่องเรียนยากหรือเรียนง่ายเท่านั้นเขาจะต้องรู้ว่าการเรียนในสายวิชาชีพแต่ละแขนงสามารถจบออกไปทำงานอะไรได้บ้าง ถ้าเยาวชนมีข้อมูลมากพอก็สามารถตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาที่เหมาะกับเขา คนที่เรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีอาชีพข้างหน้าที่รองรับได้ดี แค่ไม่ได้ออกทีวี ไม่ได้เห็นอยู่ในแหล่งช๊อปปิ้งเท่านั้นเอง ดังนั้นค่ายนี้จะทำให้เด็กๆได้เห็นชีวิตที่สนุกสนานของทีมที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาสาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งสำคัญที่สุด และกลไกในค่ายจะทำให้เด็กเข้าใจบรรยากาศของมหาวิทยาลัย ว่าคุณเข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว จะได้เรียนอะไร จะเป็นอย่างไร และจะเดินออกไปข้างหน้าอย่างไร การได้เห็นโอกาสอันนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ