GISTDA จัดปาฐกถาพิเศษ “Thailand Truth Untold” เรื่อง ความจริงประเทศไทย...(ที่คุณอาจไม่รู้)

ข่าวทั่วไป Tuesday June 5, 2012 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--คิธ แอนด์ คินฯ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความจริงประเทศไทย....(ที่คุณอาจไม่รู้)” (Thailand Truth Untold) เปิดเผยบทบาทภารกิจจริง ที่เป็นมากกว่าผู้สำรวจภัยพิบัติ เดินหน้ามอบคุณค่าจากอวกาศสู่ประเทศชาติ พัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับไทยเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย มุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติของชาวอาเซียน อย่างไรก็ตาม การให้บริการด้านภาพถ่ายดาวเทียม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในประเทศไทยเริ่มขึ้นกว่า 40 ปีมาแล้ว ก่อนที่ GISTDA จะแปรรูปจากระบบราชการมาเป็นองค์การมหาชน เช่นในปัจจุบัน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GISTDA มุ่งเน้น การบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ บริการวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แผนยุทธศาสตร์ สทอภ.กำหนดวิสัยทัศน์ “สทอภ. : นำคุณค่าจากอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศชาติและสังคม” (GISTDA: Delivering Values From Space) สอดคล้องกับเป้าหมายที่วัตถุประสงค์ขององค์กรต้องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศในทุกระดับ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ทำให้ปัจจุบัน GISTDA เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นที่รู้จักของประชาชน และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งในปัจจุบันเป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมแบบครบวงจร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นขององค์กร ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติและสังคม คือ ภาพจากดาวเทียมไทยโชต (ธีออส) และดาวเทียมดวงอื่นๆ ทั้งในระบบที่ตามองเห็นและเรดาร์ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการสำรวจและทำแผนที่เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแผนที่การใช้ที่ดิน การประเมินผลผลิตทางการเกษตร การสำรวจหาพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกบุกรุก พื้นที่ปลูกยาเสพติด พื้นที่นากุ้ง และประมงชายฝั่ง การสำรวจหามลพิษจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลทะเล สำรวจหาแหล่งน้ำ การวางผังเมือง การสำรวจเพื่อการสร้างถนน การจราจร การสำรวจพื้นที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ทั้งอุทกภัย แผ่นดินถล่ม และสึนามิ ด้วยคุณสมบัติภาพจากดาวเทียมที่พิเศษกว่าข้อมูลภาคพื้นดิน กล่าวคือ สามารถให้รายละเอียดในมุมมองจากเบื้องบนเป็นมุมกว้าง ในกรณีน้ำท่วมสามารถเห็นทิศทางของมวลน้ำและทำให้ทราบสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติ จึงทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ เป็นต้น “จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 2554 ที่ผ่านมา ประชาชนอาจรู้จัก GISTDA ในฐานะที่ทำหน้าที่สนับสนุนภาพจากดาวเทียม ในการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล หรือเหตุการณ์ สึนามิในไทย ปี 2547 และสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ปี 2554 แต่ที่จริงแล้วภาพจากดาวเทียมและข้อมูล ภูมิสารสนเทศของ GISTDA สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาในระดับประเทศอย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาทิ การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพื่อตรวจสอบกับการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรตามโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาล การประเมินพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย การติดต่อตามการเคลื่อนไหวบริเวณชายแดน ด้านสังคม อาทิ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตลอดจนพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการบริการของประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว การบูรณาการภูมิสารสนเทศกับยุทศาสตร์จังหวัด และด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง การทรุดตัว เคลื่อนตัว ของแผ่นดิน ฯลฯ อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ในอนาคต GISTDA มีโครงการพัฒนาระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรของประเทศไทยด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 เพื่อความต่อเนื่องของข้อมูล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยถึงความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในประเทศไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น “เป้าหมายและยุทธศาสตร์ในอนาคตของ GISTDA ต้องมีระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเป็นของตัวเอง และมีขีดความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียมได้หลายดวง และต้องมีศูนย์บริการข้อมูลที่ทำหน้าที่ในการจัดหาและให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภัยพิบัติ แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในและนอกประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็วฉับไว” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า อีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ GISTDA ให้ความสำคัญ คือการจัดตั้งอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ (Space Krenovation Park หรือ SKP) ซึ่งจะเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐาน, เป็นสถาบันการศึกษา, เป็นแหล่งสร้างรายได้ เพื่อเชื่อมโยง GITDA กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดย SKP จะประกอบไปด้วย ศูนย์ปฏิบัติการดาวเทียมไทยโชต (ที่มีอยู่เดิม), ศูนย์วิจัยและฝึกอบรม, ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และพิพิธภัณฑ์ด้านอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับองค์กรให้อยู่ในแถวหน้าในระดับอาเซียน เป็นแหล่งพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัย และผู้ประกอบการ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม / ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง / SME / ภาคเกษตร ในตลาด ASEAN โดยใช้ กลยุทธ์พัฒนาภูมิสารสนเทศเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติของชาวอาเซียนอีกด้วย นอกจากนี้ภายในงานปาฐกถาพิเศษ ยังมีการเปิดจำหน่ายหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับอุทกภัย ปี 2554 “โลกแห่งน้ำ” หรือ “The World of Water” ซึ่งรวบรวมบทความพิเศษเกี่ยวกับน้ำและ ภาพอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์จากข้อมูลดาวเทียม รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงใช้สอยในการพระราชทาน ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย โดยสำนักงานฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ ภาพลายพระราชหัตถ์ พิมพ์เป็นหน้าปก เนื้อในพิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม ราคาจำหน่ายเล่มละ 199 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณเสาวณิต ไทรวิเศษ โทร 0 — 26633-226 ต่อ 64

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ