กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (Public hearing) เรื่อง “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” ว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” (Government Website Standard) โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐได้มีแนวทางในการพัฒนา และปรับปรุงเว็บไซต์ของหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานราชการ ตลอดจนองค์กรธุรกิจ และยกระดับความสามารถของการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถก้าวไปสู่จุดหมายของการบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Connected Government) ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
“ในการสำรวจเพื่อจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government ของกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations e-Government Readiness) ในปี 2012 พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 92 จากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งลดลงจากปี ค.ศ. 2010 ที่ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 76 และลำดับที่ 64 ในปี ค.ศ. 2008 ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาระบบการให้บริการผ่านเว็บไซต์ อันจะช่วยยกระดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Connected Government) โดยยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) และให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Participation) ตลอดจนช่วยให้รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้าไปสู่ระดับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงาน” นางจีราวรรณ กล่าว
ด้าน นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งในระดับหน่วยงานผู้ให้บริการ ตลอดจนผู้รับบริการทุกภาคส่วน โดยที่ผ่านมา สรอ. ได้มีการหารือกับหน่วยงานภาคเอกชน กลุ่มสมาคม ที่รับพัฒนาเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานราชการ และจัดให้มีการสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็น (Focus Group) เกี่ยวกับมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน 2555 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ประมาณ 60 หน่วยงาน ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม และสมบูรณ์มากที่สุด
พร้อมกันนี้ยังได้ทำการศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่อาจเป็นกรอบตั้งต้นในการจัดทำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ อาทิ ข้อมูลจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations e-Government Readiness) ในรายงาน United Nations E-Government Survey กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากการสำรวจเชิงสถิติ การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของหน่วยงานภาครัฐ ประเทศไทย และกรณีศึกษาของต่างประเทศ ทั้งมาตรฐานเว็บไซต์ที่แต่ละประเทศมีการจัดทำ และการให้บริการผ่านเว็บไซต์ของภาครัฐ เป็นต้น
“ขณะนี้ สรอ. ได้ทำการยก ร่างมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ เรียบร้อยแล้ว จึงได้การจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (Public hearing) ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเชิญหน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไป มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานฯ ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานภาครัฐจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ ในมุมมองของผู้ที่ดูแลรับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเว็บไซต์ ทั้งนี้ เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงมาตรฐานฯ ให้สมบูรณ์ และเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป” นายศักดิ์ กล่าว