กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง “พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของโลก:ผลกระทบต่อวัฒนธรรม-สังคม” พบคนไทยให้ความสำคัญกับการบริโภค เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยังหลงลืมอัตลักษณ์ของชุมชน และละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหารายได้ฯลฯ ชี้ถึงเวลาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมและสร้างจิตสำนึกโดยการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสของวัฒนธรรมโลกได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยอย่างมาก เห็นได้จากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิต รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญวัฒนธรรมไทยบางอย่างกำลังจะถูกกลืนโดยกระแสวัฒนธรรมโลก ในฐานะที่ศศินทร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะในการศึกษาและนำเสนอแนวนโยบายเพื่อการบริหาร จัดการทั้งในระดับองค์กรและการบริหารประเทศ จึงได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ทำการวิจัยเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของโลกที่มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมสังคมไทย” โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้คนในสังคมและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและหาทางป้องกันปัญหาที่เป็นผลกระทบจากกระแสของวัฒนธรรมต่างชาติ รวมถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมจากการไหลเวียนเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ ร่วมกับ ดร.ปวิตรา จินดาหรา และดร.ภัทรวรรณ ประสานพานิช ได้เปิดเผยว่า การวิเคราะห์ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมโดยการศึกษาถึงรูปแบบและวิวัฒนาการ รวมทั้งอิทธิพลของการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมโลก ที่ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย พบว่าส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางวัฒนธรรมไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไปที่ผ่านมาแม้กระแสโลกาภิวัตน์จะสร้างโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาข้ามพรมแดนแต่ก็ทำให้คนจำนวนมากมีความปรารถนาในสิ่งที่เกินตัวบริโภคเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และทำให้ความแตกต่างทางชนชั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ในระดับชุมชนพบว่ามีปัญหาการละทิ้งถิ่นฐาน ทั้งยังหลงลืมอัตลักษณ์รากเหง้า และมีวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ที่สำคัญ คนในชุมชนขาดการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งนำไปสู่การขาดความเข้มแข็ง การขาดจิตสาธารณะและการมีส่วนร่วมกับการจัดการท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลจากชุมชน ที่มีการดำเนินการเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ได้แก่ชุมชนท่าโสม จ.ตราด ชุมชนบ้านจำรุงและชุมชนทุ่งควายกิน จ.ระยอง โดยการลงพื้นที่สังเกตการณ์ สัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้นำและคนในชุมชนรวมถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่น ทำให้ค้นพบถึงบทบาทการสร้างความเชื่อมั่นในการร่วมพัฒนางานเพื่อชุมชน กระบวนการระดมความคิดและวางแผนนำสู่การปฏิบัติและการเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆเพื่อการขยายงาน อาทิ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาและภาคประชาสังคม
ทั้งนี้ ได้คาดหวังว่าการวิจัยเรื่องนี้ จะมีส่วนกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาและพึ่งพาตนเอง ที่สำคัญต้องการให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย นอกจากนี้ยังต้องการให้คนไทยรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองในการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และยังคาดว่าจะเกิดการจุดประกายการมีส่วนร่วมทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เริ่มต้นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงชุมชนที่ตนเองอยู่อาศัย หรือชุมชนอื่น ๆ นอกจากนี้แล้วยังคาดหวังว่าจะต่อยอดให้กับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคมได้ต่อ