ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเริ่มมั่นใจสภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อช่วงใกล้ปลายปีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 48 ขยับขึ้นต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday October 27, 2005 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเริ่มมั่นใจสภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อช่วงใกล้ปลายปีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 48 ขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่ย้ำยังหวั่นปัญหาราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย เสนอรัฐคงมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศเพิ่มขีดการแข่งขัน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน2548 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 568 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 33 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.8 จาก 82.1 ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับสาเหตุที่ทำให้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้แก่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และ ปริมาณการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 104.1 100.9 และ 105.9 ในเดือนสิงหาคม เป็น 106.4 107.0 และ 113.7 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และ ผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 46.9 และ 89.7 ในเดือนสิงหาคม เป็น 51.1 และ 99.1 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากในช่วงเดือนกันยายนที่มีการสำรวจ แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะยังกังวลกับปัญหาราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จากการที่หลายอุตสาหกรรมมียอดคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงใกล้เทศกาลปลายปีเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มีการรับรู้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับปรุงและวางแผนการดำเนินกิจการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนกันยายน 2548 ผลสำรวจพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดรับกับค่าดัชนีใน 5 ปัจจัยหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 99.1 113.8 98.5 และ 104.4 ในเดือนสิงหาคม เป็น 103.7 114.5 106.2 และ 116.6 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ส่วนดัชนีโดยรวมของราคาขาย สินค้าคงเหลือ การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต เพิ่มขึ้นจาก 123.4 108.6 109.5 และ 118.3 ในเดือนสิงหาคม เป็น 130.4 116.8 110.0 และ 128.5 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
ในขณะที่ดัชนีโดยรวมต่อการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้นจาก 108.4 106.5 87.3 และ 96.0 ในเดือนสิงหาคม เป็น 113.3 107.9 89.4 และ 100.4 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับดัชนีโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 113.3 105.9 และ 99.4 ในเดือนสิงหาคม เป็น 135.7 122.2 และ 105.7 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุต-สาหกรรมฯ จำนวน 33 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนกันยายน 2548 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เปลี่ยนแปลง 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยา ซึ่งมีค่าดัชนีคงที่อยู่ที่ 97.5 ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพิ่มขึ้นจาก 101.4 เป็น 115.4 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 47.8 เป็น 61.9 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 48.0 เป็น 87.3 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 62.7 เป็น 85.9 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นจาก 95.0 เป็น 139.3 อุตสาหกรรมรองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 57.2 เป็น 82.7 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 25.2 เป็น 85.7 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เพิ่มขึ้นจาก 52.4 เป็น 82.0 อุตสาหกรรมก่อสร้าง เพิ่มขึ้นจาก 50.8 เป็น 65.0 อุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นจาก 104.2 เป็น 118.3 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 84.0 เป็น 118.9 และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 164.9 เป็น 175.0 ในทางกลับกันมี 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ลดลงจาก 57.4 เป็น 40.5 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ลดลงจาก 75.7 เป็น 58.9 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ลดลงจาก 122.4 เป็น 105.8 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ลดลงจาก 106.7 เป็น 85.8 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 91.7 เป็น 78.2 ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากปัญหาราคาน้ำมัน และวัตถุดิบได้ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งในบางอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 88.9 91.1 และ 75.6 ในเดือนสิงหาคม เป็น 91.6 95.5 และ 88.4 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าดัชนีของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีที่ได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งสามขนาดมีความเชื่อมั่นในระดับที่ไม่ดีนัก แต่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 86.2 74.7 74.3 91.5 และ 76.3 ในเดือนสิงหาคม เป็น 91.1 84.6 80.8 113.3 และ 84.0 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนของภาษีการนำเข้าและส่งออกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมในด้านการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้รัฐควรมีมาตรการในการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจากประเทศจีน เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังเป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดของสินค้าในประเทศอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1296-9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ