กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้
5 มิถุนายนของทุกปี รัฐบาลประกาศให้เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของข้าว พร้อมทั้งเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนา ซึ่งเป็นผู้สืบทอดวิถีวัฒนธรรมการปลูกข้าวโดยแ ยกออกจากวันพืชมงคลอย่างชัดเจน ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในฐานะที่แม่โจ้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นวิชาการด้านการเกษตรมาโดยตลอด 77 ปีตั้งแต่เร ิ่มก่อตั้ง จึงเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับ “ข้าวและชาวนาไทย” เป็นอย่างมาก
“ข้าวเป็นอาหารหลักของชาวเอเชียโดยเฉพาะคนไทยเรากินข้าวทุกมื้อ บางภาคกินข้าวเจ้า บางภาคกินข้าวเหนียว เราเข้าใจดีว่า เพราะการปลูกข้าวในปัจจุบันเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรเชิงพาณิชย์ เปลี่ยนสถานะให้วิถีชีวิตของชาวนาไทยกลายเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนักแต่ผลตอบแทนต่ำอย่างน่าเห็นใจ การต่อสู้กับปัจจัยสภาวะแวดล้อมธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก แต่อยากให้ชาวนาไทยปรับเปลี่ยนวิธีคิดกลับคืนสู่วัฒนธรรมเพาะปลูกแบบดั้งเดิมที่ไม่ถูกผูกยึดอยู่กับค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีที่มีต้นทุนและยังส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกเอง
ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จโครงการ “อพ.สธ. — แม่โจ้ ภูมิปัญญาเกษตรแห่งแผ่นดิน” วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายนนี้ มหาวิทยาลัยแ ม่โจ้จึงได้จัดเตรียมพื้นที่ “ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา” ซึ่งเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมที่ใช้ในวิถีชีวิตการเพาะปลูกแบบชุมชนเพื่อจัดเป็นแหล่งเรียนรู้สู่ความพอเพียง ประกอบกับการจัดแสดงรวบรวมผลงานวิจัยด้านการเกษตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เช่น ข้าวเหนียวหอมแม่โจ้ มะเขือขาวกรอบแม่โจ้ มะเขือพวงไร้หนาม ข้าวโพดหวานสองสี ลำไยคุณภาพดี ปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุพืช ซึ่งมีครบในพื้นที่ขนาด 35 ไร่ทั้งแปลงนา แปลงผักสวนครัว บ่อปลา โรงเลี้ยงสัตว์ โดยจะเปิดให้ประชาช นได้เข้าชมได้ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการแบบมีชีวิต
ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาไทยต้องกลับมาคิดและใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม บวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นผลิตข้าวอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและได้คุณภาพที่ดีจนสามารถสร้างครอบครัว ชุมชนอย่างพึ่งพาตัวเองได้พอสมควรแก่อัตภาพดีกว่าที่จะพึ่งพาตลาดเพียงอย่างเดียว ในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ชาวแม่โจ้ถือเป็นโอกาสดีที่จะประกาศตัวว่าเราจะเดินเคียงข้างเกษตรกรชุมชนต่อไป และสร้างองค์ความรู้วิชาการเกษตรเพื่อเผยแพร่ในฐานะศาสตร์แห่งการเกษตรของไทยมาโดยตลอด”