เอชเอสบีซี มอบบริการการค้าด้วยเงินหยวนใน 59 ตลาดทั่วโลก ผู้ส่งออก/นำเข้าไทยเล็งหาโอกาสธุรกิจจากเงินหยวนเพิ่มขึ้นจากการค้าไทย-จีนที่สดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 6, 2012 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี เอชเอสบีซี ขยายบริการธุรกรรมการค้าด้วยสกุลเงินหยวนครอบคลุม 59 ตลาดทั่วโลก ภายใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ล่าสุดเปิดตัวบริการการค้าด้วยเงินหยวนในจอร์แดน เสริมความแข็งแกร่งในฐานะเป็นธนาคารชั้นนำด้านบริการการค้าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวน และตอกย้ำศักยภาพด้านบริการธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวนใน 19 ตลาดทั่วเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้งตลาดไทย เอชเอสบีซี มอบบริการธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวน เพื่อช่วยลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนแก่ลูกค้าที่ใช้เงินหยวนซื้อขายสินค้า และเป็นทางเลือกในการแลกเปลี่ยนเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการเลือกรับหรือถือใบเสร็จการค้าเป็นเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวนที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งรวมทั้งบริการจัดหาแหล่งเงินทุนเป็นเงินหยวน บัญชีธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวน บริการโอนเงินต่างประเทศเป็นเงินหยวน บริการแลกเปลี่ยนเงินหยวน และบริการส่งออกและนำเข้าด้วยเงินหยวน โดยการขยายบริการธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวนครอบคลุมทั่วโลกของเอชเอสบีซีครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการผลิตภัณฑ์เงินหยวนและบริการเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ การขยายบริการธุรกรรมการค้าด้วยเงินหยวนไปยังประเทศจอร์แดน เป็นผลจากความต้องการใช้เงินหยวนในตลาดต่างประเทศเพื่อการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของ SWIFT ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐานของรหัสที่ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ พบว่า การชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเงินหยวนในเดือนมีนาคมปีนี้ ขยายตัวขึ้นร้อยละ 13.2 ต่อเดือน เทียบกับอัตราการเติบโตของการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 8.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน นายโนเอล ควินน์ ผู้อำนวยการบริหารระดับภูมิภาค ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “เราเชื่อว่าเงินหยวนจะติด 1 ใน 3 สกุลเงินเพื่อการค้าของโลกภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศ ผลจากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง เอชเอสบีซี จึงพร้อมจะมอบบริการแก่ลูกค้าที่ต้องการธุรกรรมการค้าและชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวนด้วยการขยายเครือข่ายบริการด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมทั่วโลก” การพัฒนาเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินเพื่อการค้าเป็นความพยายามที่สำคัญของรัฐบาลจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินระดับสากล โดยเอชเอสบีซี คาดว่ารัฐบาลจีนจะขยายระยะเวลาดำเนินโครงการพัฒนาเงินหยวนไปสู่ความเป็นสากลในปี 2555 นายกนกศักดิ์ โมกขมรรคกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด และเป็นผู้นำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย โดยบทวิเคราะห์การค้าโลกของเอชเอสบีซี ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนจะเติบโตราวร้อยละ 8 ต่อปี ตลอด 5 ปีข้างหน้า การค้าด้วยเงินหยวนกับคู่ค้าจีน จะทำให้ผู้ส่งออกและนำเข้าไทยจะมีต้นทุนดำเนินงานที่ต่ำลง และช่วยให้กำหนดราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาในการนำเงินหยวนมาใช้ระหว่างคู่ค้า แต่เราเห็นแนวโน้มของบริษัทไทยที่เริ่มเห็นข้อดีของการใช้เงินหยวนมากขึ้น และเชื่อว่าการเติบโตทางการค้าที่สดใสระหว่างไทย-จีน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเงินหยวนในตลาดการค้า ตลาดทุน และการลงทุนในอนาคต โดยเอชเอสบีซี พร้อมที่จะมอบบริการการค้าด้วยเงินหยวนที่ครบวงจรทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจของลูกค้า” ศูนย์วิจัยระดับโลกของเอชเอสบีซี คาดว่า ภายในปี 2558 ครึ่งหนึ่งของการค้ารายปีของจีนกับตลาดเกิดใหม่ หรือมูลค่าราว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะใช้เงินหยวนในการค้า และจากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศจีน พบว่า ภายใน 3 เดือนแรกของปี 2555 จีนใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้า คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของมูลค่าการค้ารวม นอกจากเงินหยวนจะถูกนำมาใช้ในการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ศูนย์วิจัยของเอชเอสบีซี ยังระบุด้วยว่า ในปีนี้ การออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ หรือ ติ่มซำบอนด์ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีมูลค่ารวมอยู่ระหว่าง 260-310 พันล้านหยวนจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 189 พันล้านหยวน ธนาคารเอชเอสบีซี ได้รับการยอมรับว่าเป็นธนาคารชั้นนำที่ให้บริการธุรกรรมการค้าด้วยสกุลเงินหยวน ทั้งจากลูกค้า สถาบันการเงิน และสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ เอชเอสบีซี ได้รับการคัดเลือกจากองค์กรธุรกิจ ธนาคาร และนักลงทุนให้เป็นธนาคารยอดเยี่ยมด้านการให้บริการธุรกรรมด้วยเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ ประจำปี 2555 จากการสำรวจของนิตยสารเอเชียมันนี และยังได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไฟแนนซ์เอเชีย ให้เป็นธนาคารยอดเยี่ยมด้านการออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนในตลาดต่างประเทศ และเป็นธนาคารยอดเยี่ยมด้านการออกพันธบัตรสกุลเงินหยวนประจำปี 2554 จากนิตยสารไอเอ็ฟอาร์ เอเชีย อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ