“กรมส่งเสริมการส่งออก”ดันงาน “TIFF”สู่ตลาดโลกผนึกเยอรมัน KOELN MESSE เสริมจุดแข็งดึงชาวต่างชาติร่วมงาน

ข่าวทั่วไป Wednesday February 9, 2005 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--อินดัสเทรียล ดีไซน์ เน็ทเวิร์ค
กรมส่งเสริมการส่งออก” เดินหน้างาน TIFF 2005 มั่นใจได้รับความสำเร็จท่วมท้นกว่าปีที่แล้ว สั่งขยายพื้นที่กว่า 38,500 ตร.ม. เต็มกำลังอิมแพ็ค มารีนา รองรับผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศ ด้วยจุดแข็ง DESIGN HALL ที่ขึ้นชื่อ ล่าสุด ดันงาน “TIFF” ขึ้นแท่นอินเตอร์ ผนึกเยอรมัน KOELN MESSE ส่งนักออกแบบไทยสู้ตลาดโลก “สุพัตรา ศรีสุข” ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้า เชื่อการจับมือครั้งนี้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย แนะนักออกแบบรุ่นใหม่ศึกษาเทรนด์และการตลาด วอนสถาบันการศึกษาใส่ใจกิจกรรมออกแบบให้มากขึ้น เพื่อป้อนคนรุ่นใหม่เข้าตลาด
ผช.ช.สุพัตรา ศรีสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เริ่มจัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Thailand International Furniture Fair หรือ TIFF) ครั้งแรกขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 1997 โดยจัดร่วมกับงานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (Bangkok International Gift and Houseware Fair หรือ BIG) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เริ่มจากการนำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หลายประเภทมาจัดแสดงให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าฃมและสั่งซื้อสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจด้วยดี
หลังจากนั้นอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการเติบโตดีขึ้น มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากขึ้น จึงพัฒนาเพิ่มขนาดพื้นที่การจัดแสดงสินค้า โดยปี 2004 ได้ย้ายไปจัดที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา บนพื้นที่กว่า 33,000 ตารางเมตร ซึ่งได้รับความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของไทยเข้าร่วมจัดแสดงถึง 229 บริษัท ผู้ซื้อและผู้นำเข้าทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจจำนวนมาก มีสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้าชมและสั่งซื้อสินค้า
สำหรับงาน TIFF 2005 ที่จะจัดขึ้นในปีนี้เป็นครั้งที่ 9 โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม 2548 ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 38,500 ตารางเมตร สาเหตุที่ปีนี้ขยายพื้นที่จัดแสดงมากขึ้น เป็นผลมาจากความสำเร็จในปีที่แล้ว ที่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมและเจรจาการค้ากว่า 8,000 ราย สามารถทำรายได้เข้าประเทศกว่า 250 ล้านบาท
ผช.ช.สุพัตรา กล่าวว่าสาเหตุที่งานปีที่แล้วได้รับความสำเร็จมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้มีการจัด DESIGN HALL ให้มีความสวยงาม โดยผู้ซื้อและผู้เข้าร่วมงานต่างชื่นชมกับรูปแบบของการจัดงานที่ทันสมัย รวมทั้งมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ถือเป็นจุดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้กับงาน TIFF ที่ผ่านมา กรมฯ จึงเน้นให้ความสำคัญกับการจัดแสดงสินค้าพื้นที่บริเวณนี้มากขึ้น โดยผู้ที่สนใจจะเข้ามาแสดงสินค้าในบริเวณนี้ ต้องมีการพัฒนาและนำสินค้าที่ออกแบบใหม่ รวมทั้งมีคุณภาพนำมาแสดง ซึ่งทางกรมฯ จะพัฒนาในส่วนของ DESIGN HALL ให้ดียิ่งขึ้น และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศต่อไป
ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการส่งออกได้มีการพัฒนาการจัดงาน TIFF มาโดยตลอด ล่าสุด ได้เดินทางไปดูงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ IMM ที่ประเทศเยอรมัน และลงนามในความร่วมมือกับ KOELN MESSE เพื่อยกระดับงาน TIFF ให้เทียบชั้นต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นเรื่องการออกแบบมากขึ้น โดยนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการออกแบบ รวมทั้งยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนักออกแบบ หรือ YOUNG DESIGNER เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการออกแบบซึ่งกันและกัน อันจะส่งผลดีทำให้นักออกแบบไทยได้มีการพัฒนาและยกระดับความคิดเทียบชั้นต่างชาติ
“จะเป็นการแลกเปลี่ยนกับการประกวดนักออกแบบรุ่นใหม่ของเยอรมัน ซึ่งใช้ชื่องานว่า INSPIRED BY KOELN เป็นโครงการประกวดนักออกแบบรุ่นใหม่ หรือ YOUNG DESIGNER แนวทางของความร่วมมือนั้น เราจะมีการแลกเปลี่ยนนักออกแบบจากประเทศไทย ไปเยือนงานที่เยอรมัน และนักออกแบบรุ่นใหม่ของเยอรมันได้มีโอกาสมาเยือนงาน TIFF ในประเทศ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2006 ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการจัดงานแสดงสินค้าร่วมกัน โครงการนี้จะส่งผลดีต่อประเทศเรามาก เพราะจะช่วยให้เรามีความเข้าใจตลาดต่างประเทศและได้รับการยอมรับมากขึ้น” ผช.ช.สุพัตรา กล่าว
สำหรับแนวโน้มของการออกแบบของสินค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอะไร จะต้องดูเทรนด์หรือแนวโน้มเป็นหลัก โดยพิจารณาว่าจะขายสินค้าให้ใคร ต้องศึกษาเทรนด์ของผู้ซื้อด้วย ที่ผ่านมาทางกรมฯ ได้ซื้อแนวโน้มการออกแบบสินค้าหลายรายการ มาให้ผู้ผลิตศึกษาเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มการออกแบบในแถบเอเชียจะมาแรง และมีผลต่ออุตสาหกรรมการค้าเฟอร์นิเจอร์ในไทยและทั่วโลก โดยจะมีการนำวัสดุธรรมชาติที่แตกต่างกันมาผสมผสานกัน รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยในอนาคต จะเป็นลักษณะการผสมผสานวัสดุธรรมชาติให้เป็นสินค้าที่แปลกใหม่ออกมา มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการผลิตเพื่อให้สินค้ามีอายุการใช้งานได้นาน มีรูปทรงที่ทันสมัย ซึ่งนักออกแบบรุ่นใหม่ควรจะต้องมีความคิดที่สามารถทำออกมาให้เป็นจริงได้ ไม่ใช่เพ้อฝัน ที่สำคัญต้องรู้จักพัฒนาตัวเองเสมอ
ผช.ช.สุพัตรา กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรจะให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะการที่จะผลิตนักออกแบบที่ดีและเก่งได้ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะต้องมีการเรียนรู้ความจริงของการผลิตและการตลาด ต้องให้ความสำคัญการตลาดและแนวโน้มของโลกด้วย ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร ทำให้เด็กไทยพลาดโอกาสที่ได้เรียนรู้ สถาบันการศึกษาด้านการออกแบบต้องเป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ที่ผ่านมาทางกรมฯ มีกิจกรรมด้านการออกแบบเพื่อการส่งออกมาตลอด และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมในกิจกรรมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จุดนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการพัฒนาและผลิตนักออกแบบรุ่นใหม่ป้อนอุตสาหกรรม ถ้าได้รับความสนใจมากกว่านี้ มั่นใจว่าฝีมือนักออกแบบของไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่น้อยหน้าต่างประเทศแน่นอน
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัท อินดัสเทรียล ดีไซน์ เน็ทเวิร์ค จำกัด
โทร 02 — 203 0522--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ