ไทยคมภูมิใจเป็นบริษัทไทยและบริษัทแรกในเอเชีย ที่ได้รางวัลจากกระทรวง MIC ในวันคลื่นวิทยุแห่งชาติของญี่ปุ่น จากการช่วยเหลือในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และไต้ฝุ่น No.12

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 6, 2012 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ไทยคม บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ประกาศในวันนี้ว่า บริษัท ไอพีสตาร์ จำกัด สาขาประเทศญี่ปุ่น ได้รับรางวัล Director General Award จากสำนักงานกิจการโทรคมนาคมเขตคันโต กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC) ของประเทศญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสวันคลื่นวิทยุแห่งชาติ (Radio Wave Day) ประจำปี 2555 จากผลงานของไอพีสตาร์ ในการรักษาโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารในบริเวณพื้นที่ภัยพิบัติจากการเกิดแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นและจากพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 12 ในปี 2554 โดยระบบไอพีสตาร์สามารถทำให้ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 600 สถานีให้กลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วในภาวะวิกฤติทั้งสองเหตุการณ์ ทั้งนี้ ไอพีสตาร์เป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในวันคลื่นวิทยุแห่งขาติของ MIC ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 62 ปี พิธีมอบรางวัลในวันคลื่นวิทยุแห่งชาติของ MIC ครั้งนี้ จัดขึ้นที่สำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งเขตคันโต กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ณ กรุงโตเกียว โดยมี นายยาซูชิ โยชิดา ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการโทรคมนาคมเขตคันโต เป็นประธานในพิธี และ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอพีสตาร์ จำกัด (สาขาประเทศญี่ปุ่น) เป็นผู้รับมอบรางวัล นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า "บริษัทฯรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจากผู้อำนวยการสำนักงานกิจการโทรคมนาคมเขตคันโตในวันนี้ และที่สำคัญที่สุดคือเราเป็นบริษัทของไทยและเป็นบริษัทแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลดังกล่าวใน “วันคลื่นวิทยุแห่งชาติ ครั้งที่ 62” ของประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯได้เริ่มให้บริการบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2552 โดยญี่ปุ่นเป็นตลาดที่สำคัญของไอพีสตาร์และต้องขอขอบคุณลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่มอบความไว้วางใจในบริการของเราตลอดมา” “ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขตคันโตเมื่อปี 2554 ไอพีสตาร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าเป็น backhaul solution ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการกู้คืนระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยเราใช้ไอพีสตาร์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เป็นสถานีฐานขนาดเล็ก (Femto cell) เพื่อใช้เป็นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G ชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการมือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่นทั้งสี่รายได้ทันทีในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการที่บริษัทฯได้มีโอกาสเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตดังกล่าว ทำให้บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณภาพบริการของไอพีสตาร์ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องต่อไป"นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติม ปัจจุบัน ลูกค้าไอพีสตาร์ในญี่ปุ่นประกอบด้วยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ SoftBank Mobile Corporation, KDDI Corporation และ NTT DoCoMo, Inc ซึ่งใช้ไอพีสตาร์เป็น backhaul solution เพื่อให้บริการด้านเสียงและข้อมูลโทรศัพท์มือถือ 3G และใช้ในการจัดการกู้คืนระบบสื่อสารช่วงภัยพิบัติ ซึ่งโมเดลการใช้ไอพีสตาร์เชื่อมต่อเข้ากับสถานีฐานขนาดเล็กเช่นที่ญี่ปุ่นนี้ (IPSTAR-Femto cell Model) ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอาจจะนำโมเดลดังกล่าวไปให้บริการในลักษณะเดียวกันกับที่ญี่ปุ่น บมจ.ไทยคม เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นไทยร้อยละ 95.02 มีกลุ่มอินทัช (บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น) เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ร้อยละ 41.14 และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยร้อยละ 58.86 ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยกว่า 11,000 ราย (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555) บริษัทฯ มีแผนจะจัดส่งดาวเทียมไทยคม 6 ในปี 2556 และดาวเทียมไทยคม 7 ในปี 2557 ตามลำดับ สำหรับดาวเทียมไทยคม 7 กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตจากสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติมว่า “บริษัทฯ ดำเนินการโครงการดาวเทียมไทยคม 7 ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสามารถรักษาสิทธิ์ของประเทศไทยในตำแหน่งวงโคจรที 120 องศาตะวันออก นับเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ อีกวาระหนึ่ง ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชนของคนไทย และบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทฯ ได้ในเร็ววันนี้ เพราะบริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคณสมบัติครบถ้วนทุกประการในการที่จะเป็นผู้ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของไทย”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ