กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะธุรกิจไทยเร่งสร้างข้อได้เปรียบเตรียมตักตวงโอกาสทางธุรกิจจาก AEC และพร้อมรับการแข่งขัน เน้นโอกาสมาในหลายรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องรอถึงปี 2015 พร้อมเผยผลการศึกษา SCB Insight เจาะลึกโอกาสของธุรกิจบริการใน AEC
ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า “ทาง EIC ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิเคราะห์และทำความเข้าใจประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มาโดยตลอด โดยเฉพาะในแง่มุมโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจไทย ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของธนาคาร และได้จัดทำเป็นรายงาน SCB Insight ที่เจาะลึกธุรกิจบริการหลากหลายขึ้นจากฉบับก่อนหน้าที่จัดทำและเผยแพร่ไปเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับ AEC ในเบื้องต้น เรามองว่าจะทำให้กฎเกณฑ์ ระเบียบและสภาวะแวดล้อมการดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไปในทางที่สะดวกมากขึ้น ตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศ 10 เท่า และมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะมาพร้อมกับการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นด้วย”
“โอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นทั้งจากตลาดและการใช้ปัจจัยการผลิตในต่างประเทศ และจากตลาดในประเทศที่จะขยายตัวจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยการตักตวงโอกาสในต่างประเทศในปัจจุบันสามารถทำได้แล้วจากทั้งการขยายตลาดสินค้าไปในอาเซียนและการมีทางเลือกใช้วัตถุดิบที่หลากหลายขึ้นจากอาเซียนด้วยการใช้ประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้า 0% ในขณะที่ระยะต่อไปอาจจะเป็นการขยายการลงทุนไปยังอาเซียน ซึ่งรูปแบบการเข้าไปในประเทศอาเซียนคงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไป บางธุรกิจอาจจะคุ้มค่าสำหรับการย้ายฐานการผลิตไป บางธุรกิจอาจจะเข้าไปลงทุนเพื่อครองตลาดในท้องถิ่น ซึ่งยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพิจารณา เช่นว่าความสามารถในการเข้าถึงตลาดเป็นอย่างไร เช่น ความเป็นไปได้ในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวมุสลิมที่เคร่งครัดหากบริษัทผู้ผลิตหรือเจ้าของธุรกิจไม่ได้เป็นศาสนาอิสลาม เป็นต้น” ดร. สุทธาภา กล่าวเสริม
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อว่า “ ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนด้านเกษตรกรรม ทั้งในลักษณะของ contract farming และการขอรับสัมปทานจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกจากรัฐบาลในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านแล้วหลายราย ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยได้รับสัมปทานที่ดินปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในลาวกว่า 60,000 ไร่ อุตสาหกรรมยางพาราเข้าไปทำสวนยางและเตรียมสร้างโรงงานผลิตยางสำเร็จรูป 3 แห่งในลาว อุตสาหกรรมการเกษตรเข้าไปสัมปทานปลูกข้าวโพดและพืชเลี้ยงสัตว์ในพม่าและลาว อุตสาหกรรมกระดาษเข้าไปลงทุนปลูกยูคาลิปตัสในลาว เป็นต้น โดยพบว่าการลงทุนเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา”
“ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่มีโอกาสมากขึ้นได้ด้วยการเน้นสร้างความแตกต่างและเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะจากแนวโน้มการเติบโตของความเป็นเมืองในอินโดนีเซียและเวียดนาม ประกอบกับสัดส่วนผู้บริโภคในกลุ่ม middle income ที่เพิ่มขึ้น ที่ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคมีสัดส่วนการใช้จ่ายสินค้าประเภทอาหารสดลดลงและบริโภคอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น อีกทั้งเริ่มมีความต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าประเภท non-grocery ซึ่งความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลต่อรูปแบบที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุน”
ในส่วนของโอกาสทางธุรกิจจากตลาดในประเทศไทยเองนั้น ดร. สุทธาภา มองว่า “AEC เอื้ออำนวยให้ตลาดในประเทศมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นด้วย ทั้งในแง่ของขนาดตลาดและความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นผลมาจากทั้งกิจกรรมการค้าการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกของไทย และการไหลเข้ามาของลูกค้าต่างประเทศเพื่อใช้รับบริการจากธุรกิจที่ไทยมีจุดเด่น ซึ่งตัวอย่างที่อาจจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนคือ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยมีข้อได้เปรียบอยู่แล้ว สังเกตได้ว่าคนไข้ต่างประเทศของไทยมีมากที่สุดหากเทียบคู่แข่งในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ โดยเรามีคนไข้ต่างประเทศต่อปีประมาณ 1.4 ล้านคน สิงคโปร์มีประมาณ 600,000 คน AEC จะเอื้อให้ไทยมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากอาเซียนด้วยการเดินทางในภูมิภาคที่สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจากอินโดนีเซียที่ปัจจุบันกระจุกตัวใช้บริการอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์มากกว่า ทั้งนี้ ความมีชื่อเสียงเฉพาะด้านของไทยเช่น จุดเด่นทางด้านศัลยกรรมพลาสติก และการดูแลสุขภาพช่องปาก ร่วมกับชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวอาจเป็นหมัดเด็ดในการขยายตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยในอาเซียนเพิ่มเติมจากกลุ่มตลาดคนไข้ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ซึ่งไทยเป็นผู้นำอยู่แล้วในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่ AEC ช่วยอำนวยให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานพยาบาลได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะเป็นอีกหนทางในการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของไทย”
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อถึงความท้าทายที่จะมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า “อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทุกธุรกิจต้องไม่ทิ้งคือการเตรียมรับมือจากความท้าทายที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ และการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งทางธุรกิจ เพราะธุรกิจจะต้องดำเนินธุรกิจภายใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาจจะมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าร่วมกันใหม่ซึ่งธุรกิจอาจจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตการจัดส่งตาม กระบวนการศุลกากรที่สะดวกขึ้นแต่ธุรกิจก็จะต้องทำความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมไปถึงเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนที่ทำให้มีคู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ศักยภาพการกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทย ก็เปรียบเสมือนเค้กก้อนโตที่จะดึงดูดให้ธุรกิจจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนสนใจเข้ามาลงทุน จึงไม่ได้เป็นแค่โอกาสสำหรับเฉพาะธุรกิจไทยเท่านั้น”
“สิ่งที่ธุรกิจควรจะทำตั้งแต่ตอนนี้ควรจะเริ่มตั้งแต่สำรวจธุรกิจตนเอง ศึกษาโอกาสและคู่แข่ง ทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยง เพื่อที่จะหาอาวุธของธุรกิจให้พร้อมรับการแข่งขันเพราะการดำเนินธุรกิจบางเรื่องเราอาจจะได้เปรียบบางเรื่องเราอาจจะเสียเปรียบ หาโอกาสที่เหมาะสมด้วยการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องของกฎ ระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปจากข้อตกลงต่างๆ ของ AEC และการศึกษาตลาดและรากฐานการทำธุรกิจประเทศอาเซียนต่างๆ เพราะบางธุรกิจอาจจะจำเป็นต้องหาธุรกิจพันธมิตรในท้องถิ่นจึงจะสำเร็จ หรือศักยภาพแรงงานประเทศต่างๆ อาจจะยังไม่สอดคล้องความต้องการของธุรกิจ แม้จะมีราคาถูกกว่า เป็นต้น และสุดท้ายคือความจะเป็นที่จะต้องเข้าใจความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งในเรื่องของ credit risk และ country risk เพื่อสามารถบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร. สุทธาภา กล่าวสรุป
“SCB Insight ฉบับนี้ ทาง EIC ได้ศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกโอกาสของธุรกิจบริการที่หลากหลายมากขึ้น ตามแนวคิดที่โอกาสจาก AEC จะมาในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีแง่มุมโอกาสและผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ยังจะมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “กลยุทธ์เหนือชั้นสู่ประตู AEC” เพื่อถ่ายทอดผลการศึกษาดังกล่าวให้เป็นองค์ความรู้และแนวคิดการเตรียมตัวทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากธุรกิจชั้นนำของไทยที่จะมาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในการเข้าสู่ยุค AEC ให้กับลูกค้าของธนาคารในช่วงเดือนมิถุนายนอีกด้วย” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
กุณฑลี โพธิ์แก้ว (ผึ้ง) โทร 0-2544-4501-2