พม.ร่วมรณรงค์ “วันต่อต้านค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๕”

ข่าวทั่วไป Thursday June 7, 2012 09:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--พม. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน พิธีประกาศ ความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเปิดงาน “วันต่อต้าน ค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๕” ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ A๑ ชั้น ๒๒ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดยมอบนโยบายให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรอาชญากรรม “ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป” ตลอดจนพยายามขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังถูกจับตามองเป็นพิเศษถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จากประเทศต่างๆ และในเวทีระหว่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมอบนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , สำนักงานอัยการสูงสุด , กระทรวงแรงงาน , กระทรวงการต่างประเทศ , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการ ๖ ข้อ ดังนี้ ข้อ ๑ รวมพลังป้องกันประชาชนและกลุ่มเสี่ยงมิให้ ตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ ข้อ ๒ เร่งรัดแก้ไขปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และจัดการกับนายหน้าจัดหางานที่ผิดกฎหมาย ข้อ ๓ จับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและอาชญากร อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด ถึงที่สุด ข้อ ๔ เพิ่มประสิทธิภาพ ในการคัดแยก และให้การคุ้มครองผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ ค้ามนุษย์ด้วยความสมัครใจหรือไม่ ข้อ ๕ จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และ ข้อ ๖ ประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทางในทุกรูปแบบ เพื่อจัดการและขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ให้ลดน้อยลง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เห็นชอบกำหนดให้วันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และเป็นวันที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งปีนี้ครบรอบ ๔ ปีของการประกาศใช้ พ.ร.บ. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยประสานงานหลักรับผิดชอบเรื่องการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ทั้งนี้ ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีคดีค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๘๓ คดี มีรูปแบบจากการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีสูงสุด จำนวน ๖๗ คดี พบว่าเป็นการบังคับขายบริการทางเพศจากสถานบริการต่างๆ เช่น คาราโอเกะ ร้านอาหาร สถานอาบอบนวด และแฝงมากับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในขบวนการค้ามนุษย์ รองลงมาเป็นการบังคับ ใช้แรงงานหรือบริการ ๑๓ คดี และการนำคนมาขอทาน ๓ คดี แม้ว่าคดีค้ามนุษย์มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับคดีอาญาประเภทอื่น แต่ปัญหาการค้ามนุษย์มีความรุนแรง เนื่องจากเป็นคดีอาญาที่มีความซับซ้อน เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ผู้กระทำความผิดทำงานกันเป็นเครือข่าย รูปแบบการค้ามนุษย์และวิธีการหลอกลวงปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ผู้เสียหายจึงไม่ให้ความร่วมมือ ไม่อยากเสียเวลาในกระบวนการดำเนินคดี และต้องการกลับไปทำงานหารายได้อีก ทำให้การดำเนินคดีมีความยาก ส่งผลให้ประเทศไทยถูกประเมินโดยกระทรวงการต่างประเทศ และสหรัฐอเมริกา เรื่องความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ อยู่ในระดับ Tier 2 watch list ๒ ปีติดกัน คือ ปี๕๓ และ๕๔ ซึ่งหมายถึง ระดับที่ต้องมีการจับตาดูว่าประเทศไทย มีความพยายาม ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังหรือไม่ ทั้งนี้ “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศ จึงจัดงาน วันต่อต้าน ค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๕ ขึ้น เพื่อร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึงภัย ของการค้ามนุษย์ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เวทีเสวนาประเด็น เจาะลึก จุดอ่อน—จุดแข็ง ๔ ปี หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ , วิดีทัศน์การค้ามนุษย์ฉบับการ์ตูน , การผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ และจัดทำสารคดีค้ามนุษย์ผ่านสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น” นายสันติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ