กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดผลประชุมทรัพย์สินทางปัญญาเอเปค (APEC-IPEG) ติดเครื่องลุยสามด้าน ด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และพัฒนาพื้นฐานความรู้ เตรียมจัดโครงการฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ความร่วมมือไทย — รัสเซีย ในเดือนตุลาคม ศกนี้
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดผลผลการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาเอเปค (Intellectual Property Rights Experts Group) ครั้งที่ 35 ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียว่าที่ประชุมมีประเด็นสำคัญสามเรื่อง ได้แก่ ด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการพัฒนาพื้นฐานความรู้ โดยในเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นประเทศสมาชิกเอเปคได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการพัฒนาระบบการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ โดยประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ ในเรื่องมาตรการป้องกันการลักลอบแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ และการพัฒนาระบบคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ท สำหรับเรื่องการเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่สนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องจัดทำการศึกษาวิจัย และพิจารณาแนวทาง และมาตรการดำเนินการจากประเทศต่างๆ มาประกอบการพิจาณาแนวทาง และการยกร่างกฎหมายต่อไป ส่วนประเทศจีน ได้นำเสนอในเรื่องความร่วมมือกับกรมศุลกากรของจีน ขณะที่สหรัฐฯ เสนอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการลักลอบแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ กฎหมายเอาผิดเจ้าของพื้นที่ที่จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรการการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ท เป็นต้น
“ด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI นั้นสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน ในด้านการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยสหรัฐฯ ได้เสนอเอกสารในเรื่องแนวทางมาตรฐานร่วมที่สมาชิกเอเปคอาจมีการร่วมกันในอนาคต เช่นการเสนอให้มีหลักการทั่วไปร่วมกันในเรื่อง GI การเสนอให้การได้รับความคุ้มครอง GI ต้องเคารพสิทธิที่มีอยู่ก่อน (prior rights) และการเสนอให้คำขอรับ GI ต้องมีกระบวนการโต้แย้งคัดค้านได้ ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ อาทิ จีน ได้เสนอประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบ/กฎหมายคุ้มครอง GI ของจีน ในขณะที่ประเทศไทย และญี่ปุ่น ได้เสนอว่า สิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นของชุมชน นอกจากนี้ สมาชิกยังเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาข้อเสนอของสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานใดๆ เกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จะต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดด้วย” นางปัจฉิมากล่าว
นางปัจฉิมากล่าวต่อไปว่าสำหรับในส่วนของกิจกรรมของกลุ่ม APEC-IPEG เพื่อพัฒนาพื้นฐานความรู้นั้นสมาชิกได้รายงานความคืบหน้าของกิจกรรมที่เอเปคให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความรู้/ความตระหนัก และพัฒนาศักยภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาค เช่น เกาหลี ได้เสนอโครงการ IP Xpedite ที่จะช่วยพัฒนานักเรียนนักศึกษาที่จะใช้ระบบ E-Learning ในการเรียนการสอนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โครงการ One Village One Brand เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของ SMEs ซึ่งไทยได้เคยมีส่วนร่วมในการเสนอกาแฟดอยช้าง และได้รับรางวัลที่ 3 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเทศรัสเซีย ได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการ Training for Trainer เพื่อฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ภายใต้ความร่วมมือไทย และรัสเซีย
“การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังและความร่วมมือระหว่างสมาชิกเอเปคด้วยกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และประเทศสมาชิกยังให้ความสำคัญอย่างมาก ในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือทางการตลาด และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของ SMEs” นางปัจฉิมากล่าว