กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สายวิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไม่หนักใจภาษาบาฮาซาที่ใช้เป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในการสื่อสารกลุ่มประเทศอาเซียน เน้นเรียนรู้ขนบธรรมเนียมควบคู่ทักษะด้านภาษา เผยต่างชาติกำลังแห่เรียนภาษาไทยเช่นกัน ล่าสุดเตรียมเปิดสอนภาษาไทยเป็นวิชาหลักให้นักศึกษาชาวต่างชาติของมจธ.
ในอีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การตื่นตัวและความสนใจของผู้ประกอบการไทยตลอดจนนักศึกษาในการเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านกำลังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะ“บาฮาซา”bahasaที่ว่ากันว่า กำลังจะเป็นภาษาหลักภาษาหนึ่งในการสื่อสารของกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน
ผศ.วิลักษณา ศรีมาวิน ประธานสายวิชาภาษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า bahasaใช้ในการสื่อสารของหลายประเทศในอาเซียนได้แก่ มาเลเซียอินโดนีเซีย สิงคโปร์บูรไน และฟิลิปปินส์ รวมถึงทางภาคใต้ของไทย บางส่วนของพม่า และเวียดนามทั้งนี้เดิมทีbahasaเป็นภาษาในกลุ่มออสโตรนีเซียน ที่พูดโดยชนชาติมลายูซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของคาบสมุทรมลายู และบางส่วนของเกาะสุมาตรา ซึ่งประชากรในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีจำนวนมากราว 230-245 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งหากนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิศวกรหรือแรงงานไทยสามารถใช้ภาษาดังกล่าวได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการติดต่อสื่อสารหรือทำธุรกิจร่วมกัน ดังนั้น มจธ.จึงได้เปิดสอนวิชาดังกล่าวขึ้น และมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเข้าเรียน
“เราเปิดสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษา ไม่เฉพาะบาฮาซาเท่านั้น ยังมีภาษาจีน ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี ส่วนบาฮาซา มาเลย์ (Basic Malay Language) และภาษาเวียดนาม นั้นเพิ่งเปิดสอนได้เพียง 1 เทอม ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับคนที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ภาษาบาฮาซา เนื่องจากในอนาคตจะต้องทำงานในภูมิภาคนี้จะต้องมีการติดต่อสื่อสาร มีการประชุม ดูงานระหว่างกัน ดังนั้นการรู้ภาษาของประเทศใดก็ตามที่ทำธุรกิจด้วยย่อมเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือการสอนที่สอดแทรกเรื่องขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ให้เขาได้เกิดความระวังระไวว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด สิ่งใดควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติในแต่ละประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะแม้จะพูดไม่คล่องแต่การปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องเข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมปฏิบัติของเพื่อนบ้านจะเป็นเสน่ห์ที่สำคัญในการสร้างรากฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ผศ.วิลักษณา กล่าวด้วยว่า ในความเป็นจริงไม่เพียงเฉพาะภาษาอังกฤษ หรือบาฮาซา เท่านั้นที่สำคัญยังมีภาษาอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน พม่า หรือ เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันประชากรประเทศเหล่านี้มีความตื่นตัวอย่างมากในการเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งภาษาอังกฤษ บาฮาซา รวมถึงภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานการค้า หากผู้ประกอบการสามารถพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา (ภาษาประจำชาติ ภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน) ก็จะประสบความสำเร็จในอาชีพมากยิ่งขึ้น
ประธานสายวิชาภาษา มจธ. กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตามแม้กระแสการตื่นตัวของผู้คนที่พุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้บาฮาซา แต่ภาษาไทยก็มีความสำคัญมากในฐานะภาษาประจำชาติของไทย ณ ปัจจุบันมีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ ลงทุน ติดต่อสื่อสาร รวมถึงเข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีประจำชาติของไทยเช่นกัน
“ต่างชาติเขาสนใจภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเหมือนกัน ประชากรในหลายๆ ประเทศก็ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งภาพยนตร์ไทย ซีรีย์หนังไทยก็เป็นที่นิยม เขาดูโทรทัศน์ติดตามข่าวสารบ้านเรานั่นเพราะเขาก็ต้องการเข้าใจเราเพื่อการติดต่อค้าขายกับเราให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นอันที่จริงคณะศิลปศาสตร์ได้เปิดสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาชาวต่างชาติและผู้สนใจมาหลายปีแล้ว แต่ขณะนี้สายวิชาภาษากำลังจะเปิดสอนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาหลักให้กับนักศึกษาชาวต่างชาติที่เรียนในหลักสูตรของมจธ.”