กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--สสวท.
การเลี้ยงดูบุตรหลานเป็นการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกัน เด็กๆ จะเติบโตขึ้นมาอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิต เช่น ความรักความอบอุ่น การหล่อหลอมจากพ่อแม่ การศึกษาและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว ตามความสุขที่ยั่งยืน และพื้นฐานที่ดีต่างๆ ของลูกออกแบบได้ด้วยสองมือของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองนั่นเอง
ผู้เขียนได้เก็บตกเนื้อหาจากการบรรยายหัวข้อ “แนวทางการดูแลเด็กเก่ง พ่อแม่เลี้ยงเองได้” ที่จัดขึ้นในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท.เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 7 ณ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยมหิดลและและหน่วยงานร่วมจัดอื่น ๆ
การบรรยายครั้งนี้ แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน กุมารแพทย์ประจำ โรงพยาบาลบางปะกอก 1 ซึ่งเป็นคุณแม่ของนายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน (ปิงปอง) เจ้าของเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2550 ทำคะแนนสูงสุดได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ได้มาเป็นวิทยากรแนะแนวทางการส่งเสริมและเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาศักยภาพไปสู่จุดสูงสุดในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้ปกครองของนักเรียนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของ สสวท.รวมทั้งผู้สนใจท่านอื่น ๆ
แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน กล่าวว่า พ่อแม่นั้นเป็นพลังให้ลูก จะเป็นการดีถ้าหากพ่อ แม่ เลี้ยงลูกเองเด็กจะมีความสุขความมั่นใจ “หมอเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีพันธะสัญญาที่จะเลี้ยงลูกให้เขามีชีวิตที่ยอดเยี่ยม” แต่ พ่อแม่บางคนพอเลี้ยงลูกเองแล้วมีปัญหาก็ถอดใจส่งลูกเข้าโรงเรียนประจำ ซึ่งนั่นไม่ไช่คำตอบ
ทำไมพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกเอง ? แพทย์หญิงจิตรา กล่าวว่า พฤติกรรมของของพ่อแม่ที่ได้เลี้ยงดูลูกเองนั้น จะตื่นตัวและเตรียมพร้อม กำหนดผลลัพท์ของการเลี้ยงดูได้ และเลี้ยงดูอย่างเป็นอิสระ ส่วนพ่อแม่ที่ให้คนอื่นเป็นผู้เลี้ยงลูกให้แล้วตนเองเป็นผู้ดูหรือกองเชียร์ จะคอยแต่วิเคราะห์ วิจารณ์ เหมือนกับรู้ทุกอย่างแต่ไม่ได้ทำ มีเหตุผลแก้ตัวเสมอ ไม่มีส่วนร่วม สุดท้ายลูกอาจกลายเป็นเหยื่อสังคม “ช่วง 5ปีแรก เด็กจะเป็นกระจกเงาสะท้อนผู้เลี้ยงดูทุกอย่าง หากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกอย่างใกล้ชิด แล้ว ให้อยู่กับพี่เลี้ยง เด็กก็จะซึมซับพฤติกรรมจากพี่เลี้ยงแทน แต่หากพ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกแล้วเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่จะไวต่อความรู้สึกของลูกก็จะรู้ตัว แล้วป้องกันแก้ไขอย่างทันท่วงที”
เลี้ยงแบบให้โอกาสแต่ไม่คาดหวัง เด็กทุกคนครบถ้วน สวยงามไร้ที่ติ เด็กทุกคนต้องการชีวิตที่ยอดเยี่ยม คือ อยู่กับปัจจุบัน เต็มไปด้วยพลัง มีอาหาร มีคนที่รักเขา ได้เล่นอย่างมีความสุข แต่พ่อแม่มักจะติดกับดักอยู่ 2 อย่าง คือ ความกังวลและความคาดหวัง
ผู้ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ คือ มีไอคิวดี อีคิวเยี่ยม และมีความสุขอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยนักวิชาการชื่อเรนซูลลี (RENZULLI) ซึ่งได้ติดตามคนเก่งตั้งแต่เด็ก ที่ประสบความสำเร็จระยะยาว กล่าวว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น มีสัดส่วนของการใช้ไอคิวเพียง 20% อีคิว 20% ทักษะในการทำงาน ( WORK COMPLETENT ) 40%
สร้างความไว้วางใจและความเคารพ การปลูกฝังให้ลูกรักไว้ใจ และเคารพในตัวเราเป็นเรื่องสำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก การสร้างความไว้วางใจให้แก่เด็กนั้นพ่อแม่จะต้องทำตามกฎกติกา ทำตามคำพูด ถ้าทำไม่ได้ต้อง ขอโทษ แล้วเริ่มต้นใหม่และทำอย่างคงเส้นคงวา “การที่เรารับปากกับลูกไม่ว่าจะเรื่องใด หากจะไม่สามารถทำให้ลูกไว้ใจเราได้ ถ้าเราไม่ทำตามคำพูด ตัวเราก็ต้องรักษาคำพูด แล้วลูกก็จะรักษาคำพูดเหมือนกัน” การปลูกฝังให้รักษาคำพูดจะเป็นการปูพื้นฐานทำให้คนอื่นเชื่อถือในตัวลูกของเรา
ความรับผิดชอบ ไม่มีคำว่า “แต่” ให้ใช้คำว่า “และ” แทนคำว่าแต่ เช่น “ฉันอยากให้ลูกเรียนเก่งแต่ไม่มีเวลา” เปลี่ยนเป็น “ฉันอยากให้ลูกเรียนเก่งและไม่มีเวลา.....” ถ้าคุณหัดให้ลูกใช้คำว่าแต่ คุณจะหัดให้ลูกโกหก และไปไม่ถึงความสำเร็จ นอกจากนั้นจะต้อง “ให้โอกาสแทนความคาดหวัง” ไม่สร้างความเครียดให้กับเด็ก
การสื่อสารกับลูกมีเพียง 3 อย่างคือ ฟัง พูด สะสาง “การฟัง” เปิดใจให้กว้างแล้วฟังก่อน อย่าฟังด้วยอคติ อย่าเพิ่งด่วนโต้แย้ง หรือสรุปความ ฟังแล้วก็ทำความเข้าใจ ฟังความคิดเห็นของลูกแล้วค่อยเสริมความคิดของเรา ให้ลูกหัดคิดให้เป็น มีความคิดเป็นระบบ “การพูด” เวลาพูด ให้พูดความจริง พูดแล้วเกิดประโยชน์ พูดแล้วไม่เสียบรรยากาศ สื่อสารด้วย “I” massage เพื่อสร้างให้ลูกเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของเรา อย่างตรงไปตรงมาเช่น แม่คิดว่า........ พ่ออยากให้.......... มีเรื่องเล่าดีๆ มาเล่าให้ลูกฟัง ใช้ “การสะสาง” ถ้าหากความรักและความไว้วางใจถูกสั่นคลอน วิธีการสะสาง ทำให้ชีวิตเราเดินไปข้างหน้าได้
วิธีการจัดการทุกปัญหาอย่างมีหวัง ถ้าเราสามารถอยู่กับสติแล้ว เราจะแยกแยะประสบการณ์ได้ แล้วจะเลือกวิธีการแก้ปัญหาได้ การเป็น (BEING) เปลี่ยนได้นาทีต่อนาทีและการกระทำจะสอดคล้องกับการเป็นเสมอพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก เมื่อลูกทำผิดพลาดไม่ควรซ้ำเติมให้รู้สึกแย่ “เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำสิ่งที่ดี ทำแล้วก็จะให้เกิดแรงบันดาลใจ และเราก็จะทำไปเรื่อยๆ”
แยกให้ออกระหว่าง “คำชมเชย” กับ “คำชื่นชม” คำชมเป็นการการยืนยันจากคำพูดของพ่อแม่ว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว การชมที่จะประทับใจลูกไปอีกนานคือคำชมที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ ลงไป อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปนานแล้วค่อยเอาเรื่องนั้นกลับมาพูด เพราะลูกอาจลืมรายละเอียดและความคิดในขณะนั้นไปแล้ว แต่คำชมอาจเป็นดาบสองคมได้ อย่าชมพร่ำเพรื่อทุกเรื่อง ไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็บอกว่าลูกเก่งเสมอ ทำให้ลูกทราบว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นดีหรือถูกต้องจริงหรือไม่
ภายหลังจากการบรรยายมีคำถามจากผู้ปกครองว่า เด็กเก่งเอาแต่เรียนอย่างเดียวแต่ไม่ยอมทำอย่างอื่น เช่น ช่วยงานบ้านเลย พ่อแม่กังวลว่าจะบ่มเพาะนิสัยให้เห็นแก่ตัวและไม่เห็นความสำคัญของหน้าที่อื่นที่ควรทำจะแก้ไขอย่างไร สำหรับเรื่องนี้แพทย์หญิงจิตราแนะนำว่า ตามหลักการของเรนซูลลี ถึงแม้ลูกจะเก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เต็ม 100% ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จระยะยาวแค่ 20% แต่การไม่ช่วยงานบ้าน เห็นแก่ตัวและไม่รับผิดชอบงานอื่น จะเสียส่วน 40%ของ EQ และบางส่วนของ Work competent ในเรื่องงานบ้าน งานส่วนตัว ดังนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่โน้มน้าวให้ลูกเห็นความสำคัญในการช่วยตัวเองและช่วยเหลืองานบ้าน โดยเฉพาะในระยะที่เขาไม่มีการสอบเช่น ช่วงปิดเทอม ส่วนในช่วงที่ลูกต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนหรือการเตรียมตัวสอบควรให้ลูกขอบคุณและรู้สึกสำนึกในบุญคุณต่อคนที่ช่วยเหลือ ต้องสอนให้เขารู้จักขอบคุณและขอโทษให้เป็น เพราะเป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อมต่อผู้อื่น
เมื่อใดก็ตามที่เราสร้างพลังแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อ พลังที่ไม่ดีก็จะไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกของเราได้เมื่อไหร่ลูกมีความสุขและมั่นใจในตัวเอง เรียนรู้อย่างเติมที่ ถึงจะมีความสุขจะวนอยู่อย่างนั้น ทั้งนี้ไม่มียาเม็ดเดียวที่จะรักษาได้ทุกโรค นั่นหมายความว่าเด็กแต่ละคนก็ต้องใช้วิธีการเลี้ยงดูและแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะนำพาให้บุตรหลานเป็นเด็กดีและเก่งได้นั้น คือ เด็กจะต้องมีความสุขในการดำเนินชีวิเป็นพื้นฐานก่อน ซึ่งความสุขนั้นเกิดจากความรักในครอบครัว