กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--พีทีอี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ (30 มิถุนายน 2555) กรมทางหลวง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น งานสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 12 ตอน อ. หล่มสัก—อ. น้ำหนาว—อ. คอนสาร (ตอน 2) เพื่อเตรียมการสรุปแบบ
นายบุญธรรม ไกรศรศรี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า ทางหลวงหมายเลข 12 ตอน อ. หล่มสัก—อ. น้ำหนาว—อ. คอนสาร (ตอน 2) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ตามมติ ครม. 10 มกราคม 2538 ซึ่งเห็นชอบในหลักการก่อสร้างทางหลวงสายหลักทั่วประเทศเป็น 4 ช่องจราจร นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) โดยเริ่มต้นจาก อ.แม่สอด-ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก-อ.หล่มสัก-อ.น้ำหนาว-อ.คอนสาร-อ.ชุมแพ—ขอนแก่น-กาฬสินธุ์และไปสิ้นสุดที่ จ.มุกดาหาร ทั้งยังเป็นโครงข่ายที่สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันทางหลวงตอน 2 นี้ ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ ในขั้นตอนนี้เป็นการสำรวจและออกแบบรายละเอียด ที่ กม.59 หรือ 414 ปัจจุบัน ถึง กม.93 หรือ 448 ปัจจุบัน รวมระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยทางกรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา คือ บริษัท พีทีอี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด
"ที่ผ่านมาได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการ ไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ณ ที่ว่าการอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ การประชุมย่อยในพื้นที่ระดับตำบล แบ่งเป็น 4 พื้นที่โดยแต่ละพื้นที่จัดจำนวน 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13-14 ตุลาคม 2554 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2555 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ บ้านห้วยสนามทราย ตำบลโคกมน ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ตำบลทุ่งนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยได้รับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากการประชุมมาประกอบการดำเนินงาน สำหรับวัตถุประสงค์การประชุมวันนี้ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจและออกแบบแนวเส้นทาง รูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ การดำเนินงานมีส่วนร่วมและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมต่อที่ประชุม เพื่อให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมกันพิจารณาและให้ข้อคิดเห็นต่อการออกแบบรายละเอียดถนนโครงการ" นายบุญธรรม กล่าว