บอร์ดบีโอไออนุมัติรวด 9 โครงการใหญ่ รวมมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday June 18, 2004 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--บีโอไอ
- กิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์
- กิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม
- กิจการขนส่งทางเรือ 7 โครงการ
- มูลค่าเงินลงทุน 11,199.9 ล้านบาท
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,199.9 ล้านบาท ดังนี้
- กิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์ ของบริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์ (AUTOMOBILE RADIAL TIRE) กำลังการผลิตปีละประมาณ 3,570,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท ใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในประเทศ ประมาณ 10,000 ตัน/ปี เพิ่มการจ้างแรงงานไทย 670 คน ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งโครงการนี้เข้าข่ายตามเกณฑ์การให้ส่งเสริมเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill Technology & Innovation-STI) ใน 2 กรณี คือ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะ 3 ปีแรก และการจ้างบุคคลากรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ด้านวิทยาศสตร์ หรือวิศวกรรม จึงส่งผลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติอีกเพียง 2 ปี คือ ได้รับการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 7 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้เป็นการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์ รถปิคอัพ รถตู้ รถบรรทุกขนาดกลาง เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศ ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเป็น ดีทรอย์แห่งเอเชีย โดยบริษัทฯ จะทำการจำหน่ายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 59 ส่งออกต่างประเทศร้อยละ41
ปัจจุบันมีการผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกปีละประมาณ 1,200 ล้านเส้น โดยเป็นการแบ่งตลาดกันระหว่าง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ บริดจสโตน ของญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งตลาดโลกในปี 2545 คิดเป็น 20% บริษัทมิชลิน ของฝรั่งเศส คิดเป็น 19% และบริษัทกู๊ดเยี่ยร์ ของสหรัฐฯ ประมาณ 17% สำหรับบริษัท โยโกฮามา ของญี่ปุ่นมาเป็นอันดับที่ 7 มีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 3.5%
สถานที่ติดต่อ เลขที่ 82 ถ.หพลโยธิน กม.75 ต.ไผ่ต่ำ อ. หนองแค จ.สระบุรี Tel : 036-325101-5
- กิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ของบริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเพื่ออุตสาหกรรม มีกำลังผลิตไฟฟ้า 46 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 65 ตัน/ชั่วโมง และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ 40 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,683.9 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศ 456.6 ล้านบาท/ปี ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งโครงการนี้จัดเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตใด
โครงการที่ยื่นขอขยายนี้จะใช้ระบบในการผลิตเหมือนโครงการเดิม คือ ระบบ Co-generation โดยใช้ก๊าซเชื้อเพลิงสำหรับ Gas Turbine และนำไอเสียที่ได้ไปผลิตเป็นไอน้ำ โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ลูกค้าบริเวณขตอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัปทานการประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งทางบริษัทได้ยื่นขอขยายกำลังการผลิตอีก 46 เมกะวัตต์ต่อกรมธุรกิจพลังงานแล้ว
โครงการนี้ยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ประมาณ 3 ล้านล้าน BTU/ปี โดยได้ทำการซื้อขายกับ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปี สำหรับการใช้น้ำซึ่งมีปริมาณ 2.6 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ได้ทำการซื้อขายกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน)
สถานที่ติดต่อ บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด เลขที่ 32/32 อาคารชิโนไทย ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถ.สุขุมวิท 21 (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.101100 โทร 0-2661-7238-9 โทรสาร. 0-2661-7243
- กิจการขนส่งทางเรือ ทั้งหมดจำนวน 7 โครงการ โดยมีผู้ประกอบการ 2 กลุ่ม ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 7 โครงการ ดังนี้ กลุ่มแรก เป็นโครงการของกลุ่มโทรีเซนจำนวน 5 บริษัท ประเภทเรือสินค้าเทกอง ได้แก่ 1. บริษัท ทอร์ วิน ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 714 ล้านบาท 2. บริษัท ทอร์ เวฟ ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 714 ล้านบาท 3. บริษัท ทอร์ไดนามิค ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 892 ล้านบาท 4. บริษัท ทอร์ เอนเตอร์ไพรส์ ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 1,007 ล้านบาท และ 5.บริษัท ทอร์ ฮาร์โมนี่ ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 1,147 ล้านบาท
สถานที่ติดต่อ เลขที่ 26/32 ตึกอรกานต์ ชั้น 10 ซอยชิดลม ถ.เพลินจิต แขวงลุมพีนี เขตปทุมวัน กทม. 10330 โทร.0-2254-8437 โทรสาร 0-2655-3906
กลุ่มที่ 2 เป็นโครงการของกลุ่มบางประกงเทอร์มินอลจำนวน 2 บริษัท ประเภทเรือคอนเทนเนอร์ ได้แก่ 1.บริษัท แพลทตินั่มเพิร์ล จำกัด เงินลงทุน 536 ล้านบาท 2.บริษัท แพลทตินั่มซัพไฟร์ จำกัด เงินลงทุน 506 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 5,516 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร
สถานที่ติดต่อ เลขที่ 8/1 หมู่ 8 ถ.บางนาตราด กม.52 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 24130 โทร.(038) 828421 โทรสาร. (038) 828420
ทั้งนี้โครงการของกลุ่มโทรีเซน จะเปิดให้บริการเดินเรือสินค้าทั่วไป ในลักษณะไม่ประจำเส้นทาง ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังประเทศแถบอาฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง โดยเที่ยวไปจะขนส่งสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ข้าว ส่วนเที่ยวขากลับจะบรรทุกสินค้าเทกองประเภทอื่นๆ เช่น ปุ๋ยเคมี
ส่วนโครงการของกลุ่มบางปะกงเทอร์มินอล จะเน้นการให้บริการประจำเส้นทาง (Liner) ระหว่างท่าเรือของบริษัท บางปะกงเทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) จ.ฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และท่าเรือฮ่องกง
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์ต่อกิจการพาณิชย์นาวีและเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการเพิ่มระวางกองเรือไทย รวมถึงการเพิ่มรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ การจ้างแรงงานและประสบการณ์ของลูกเรือไทยเป็นต้น
ปัจจุบันกองเรือที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศสิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยกองเรือพาณิชย์ของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา โดยในปี 2546 มีจำนวนเรือทั้งหมด 313 ลำ น้ำหนักบรรทุก 2.9 ล้านเดทเวทตัน--จบ--
-กภ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ