กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--พีอาร์ โฟกัส
ทรู อินเทอร์เน็ต ขานรับ World IPv6 Launch วันที่ 6 เดือน 6 ปี 2012 พร้อมกับทั่วโลก ร่วมเปลี่ยนผ่านการใช้งาน IPv4 เข้าสู่ IPv6 อย่างเต็มตัว เป็นรายแรกในประเทศไทย จับมือ ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เตรียมความพร้อมให้บริการล่วงหน้ากว่า 7 ปี มั่นใจศักยภาพรองรับการปรับเปลี่ยนสมบูรณ์แบบ ตอบสนองการขยายตัวการใช้งานเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคต พร้อมก้าวสู่ยุค 3G 4G และยุคคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งมีความต้องการหมายเลขไอพีแอดเดรสจำนวนมหาศาล ลงทุนงบพัฒนากว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้บริการลูกค้าองค์กรทุกระดับ เปลี่ยนผ่านสู่ระบบใหม่ด้วยความเสถียร และปลอดภัยเต็มประสิทธิภาพสูงสุด
นายธนะพล จันทวสุ รองผู้อำนวยการ สายงานโครงข่าย บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด เปิดเผยว่า “IPv6 เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญของโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างและคุณลักษณะอื่นๆ เพื่อให้รองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของโลกอินเทอร์เน็ต โดยทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานจาก IPv4 ที่ ไอพี แอดเดรสกำลังจะหมดไป เข้าสู่ IPV6 [Internet Protocol Version 6] ซึ่งมีขนาดความจุกว่า 128 บิต มีศักยภาพในการเพิ่มไอพี แอดเดรส ได้สูงสุดมากกว่าแสนล้านล้านแอดเดรส และที่สำคัญจะช่วยผลักดันการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบ peer-to-peer ที่เคยมีข้อจำกัดภายใต้ IPV 4 ซึ่งจะมีผลต่อการใช้งานทั้งในระดับองค์กร และบุคคล จึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ถือเอาวันที่ 6/6/2012 เป็นวัน World IPV6 Launch คือเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ทรู อินเทอร์เน็ต ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเตรียมความพร้อมในด้านการให้บริการมากว่า 7 ปีแล้ว โดยจับมือกับ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์(ประเทศไทย) จำกัด นำ Network Equipment อุปกรณ์โครงข่ายที่อยู่ในระดับท็อปไฮเอนด์ Nexus 7000 เข้ามาใช้ ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าให้ความรู้กับลูกค้าในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 อาทิ งานสัมมนา จัดทีมงานให้คำปรึกษาเรื่อง IPv6 โดยในปีที่ผ่านมาได้เริ่มแจก IPV6 ควบคู่ไปกับการให้บริการ IPV4 เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มองค์กรได้ทดลองใช้งาน พร้อมตั้งทีมงานให้คำปรึกษา และให้ความสะดวกในเรื่องของการติดตั้งใช้งาน
การลงทุนพัฒนาของทรู อินเทอร์เน็ต ทั้งด้านโครงข่ายในการให้บริการอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเส้นทางเชื่อมต่อไปยัง Internet Gateway เพื่อรองรับการใช้งาน IPV6 ตลอดจนการแจก IPV6 ควบคู่ไปกับการใช้งาน IPV4 เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มองค์กรได้ทดลองใช้งาน พร้อมส่งทีมงานให้คำปรึกษา ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้เปิดให้บริการใช้งานแบบครบวงจรเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีศักยภาพพร้อมรองรับการขยายตัวของอุปกรณ์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ไร้สายที่ต้องการเลขที่ไอพีแอดเดรสแบบจำเพาะเจาะจง นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าองค์กรในการเปลี่ยนผ่านสู่ IPv6 ได้อย่างเต็มรูปแบบ และมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยน
ผ่านสู่การใช้งานในระบบ IPv6 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ลูกค้าพร้อมในแข่งขันในระดับสากลได้ดียิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรูไอดีซี ซึ่งเป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ ทรู อินเทอร์เน็ต ใช้บริการฝากอุปกรณ์เครือข่ายเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ ได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ IPv6 แล้วเช่นกัน โดยติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายที่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ทั้ง 2 แห่ง คือ ศูนย์ทรูทาวเวอร์ และศูนย์เมืองทองธานี ให้สามารถรองรับการใช้งาน IPv6 โดยลูกค้าสามารถใช้งานทั้ง IPv4 และ IPv6 ได้ควบคู่กัน ก่อนที่ IPv4 จะถูกยกเลิกไปในอนาคต พร้อมกันนี้ ทรูไอดีซี ยังจัดโปรโมชั่นในโอกาสวันทดสอบการใช้งาน IPv6 อย่างเป็นทางการ หรือ World IPv6 Launch แจก IPv6 ให้ใช้บริการฟรี และเปิดให้ลูกค้าเข้าร่วมทดสอบการใช้งาน IPv6 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยลูกค้าที่สนใจใช้งาน IPv6 สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ฝ่ายขาย อีเมล์ sales@trueidc.co.th หรือ สอบถามข้อมูลทางเทคนิคเบื้องต้นได้ที่ network@trueidc.co.th โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำทางเทคนิคในการใช้งาน IPv6
ดร. ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "แนวโน้มของการเติบโตด้านการใช้งานแบนด์วิททั่วโลก มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งอุปกรณ์ด้านไอทีและเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ก็มีความหลากหลาย ทำให้ไอพีแอดเดรสไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลถึงผู้ให้บริการและใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องปรับตัวอย่างมาก โดยในปี 2012 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการใช้งาน ไอพี แอดเดรส รวมถึงการใช้งานแบบสตรีมมิ่งมากยิ่งขึ้น ทั้งไฟล์ภาพและเสียง รวมไปถึงวิดีโอคลิปต่างๆ ด้วยเหตุนี้ คณะทำงาน IETF (The Internet Engineering Task Force) ตระหนักถึงปัญหาสำคัญดังกล่าว จึงได้พัฒนาอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นใหม่ขึ้น คือ รุ่นที่หก (Internet Protocol version 6) เพื่อทดแทนอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นเดิม โดยมีวัตถุประสงค์ IPv6 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของตัวโพรโตคอล ให้รองรับหมายเลขแอดเดรสจำนวนมาก และปรับปรุงคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย รองรับระบบแอพพลิเคชั่น (application) ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผล (packet) ให้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถตอบสนองต่อการขยายตัวและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้เป็นอย่างดี
สำหรับ ในประเทศไทย ถือได้ว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ IPv6 เพราะได้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วเป็นอย่างดี ในส่วนผลิตภัณฑ์ของซิสโก้นั้น มีการรองรับ IPv6 มาตั้งแต่ปี 2000 และได้มีการพัฒนาให้สอดคล้อง เพื่อรองรับมาตรฐานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีทางด้านความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ในส่วนของลูกค้าองค์กร และลูกค้าทั่วไปนั้นที่ไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าอาจประสบปัญหาด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การเข้าถึงและการเก็บรักษาความปลอดภัยในข้อมูลต่างๆ ดังนั้น จึงควรเลือกผู้ให้บริการที่มีความพร้อมให้บริการ IPv6 ในส่วนความปลอดภัย ความเสถียรของระบบ และโอกาสเสี่ยงนั้น IPv6 ไม่ได้แตกต่างไปจาก IPv4 ดังนั้นจะต้องมีการพิจารณา ออกแบบให้เหมาะสม เช่นเดียวกับการออกแบบระบบสำหรับ IPv4 อย่างไรก็ดี การออกแบบระบบให้สามารถรองรับไดัทั้ง IPv4 และ IPv6 พร้อมๆกันนั้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนธุรกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์เป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นและปลอดภัย
ผศ.ดร.โปรดปราน สิริธีรศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันประมวลผลข้อมูลเพื่อการศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญของการใช้งาน IP เนื่องจากมีการใช้งานในอุปกรณ์และโครงข่ายภายในหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนจาก IPv4 เป็น IPv6 โดยดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายแกนหลักของมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ การติดตั้ง Router Core Switch ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยสามารถใช้งานควบคู่กันทั้ง IPv4 และ IPv6 โดยใช้วิธีการใช้งานแบบ Dual Stack และได้มีการทดสอบการใช้งาน DNS IPv6 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยถือได้ว่ามีความพร้อมในด้านการใช้งาน IPv6 ทั้งนี้เราพร้อมทั้งในส่วนของธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และที่วิทยาเขตรังสิต ธรรมศาสตร์มีความพร้อมสำหรับ World IPv6 Launch
“ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 กำหนดให้เป็นวันทดสอบการใช้ IPv6 พร้อมกันทั่วโลก หรือเรียกว่า World IPv6 Launch โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ของประเทศต่างๆ จะร่วมทำการทดสอบพร้อมกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการประเมินไว้ว่าต้องใช้เวลาเตรียมพร้อมประมาณ 3 ปี โดยเบื้องต้นต้องฝึกอบรมบุคลากรในหน่วยงานไอที เพื่อให้มีความรู้เรื่อง IPv6 เพื่อให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเข้าสู่การใช้งานได้จริงในปี 2558 ทันกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในส่วนของ ทรู อินเทอร์เน็ต ถือได้ว่ามีการพัฒนาล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ถือได้ว่ามีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรทุกระดับ ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของประเทศ” นายธนะพล กล่าวสรุป