กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาด้านเกษตรกรรม" เนื่องจากการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในปัจจุบันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำวิทยาการสาขาต่างๆ มาเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมหรือทรัพยากรธรรมชาติ ในอนาคตเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) หรือ "ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์" ซึ่งก็คือ การนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ได้แก่ โปรแกรมคำสั่ง, ฐานข้อมูล, และบุคลากร มาทำงานร่วมกันในลักษณะ นำเข้าข้อมูล, เก็บข้อมูล, จัดการ, วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล ข้อสนเทศปริภูมิ เพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการแก้ปัญหา และการจัดการ ในเรื่องของเชิงพื้นที่มาใช้ โดยสภาที่ปรึกษาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริมแนวทางการผลิตและพัฒนาด้านอุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี นายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ เปิดการสัมมนา
และ นายวิชัย ทิตตภักดี ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การสัมมนา และในการอภิปรายดำเนินรายการโดย ดร.บุญส่ง ไข่เกษรองประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร
เปิดประเด็นในเรื่อง "แนวทางการส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาด้านเกษตรกรรม" โดย นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำมาเป็นเครื่องชี้วัดที่ถูกต้องและแม่นยำ แต่ปัญหาและอุปสรรคคือเรามีงบประมาณที่จำกัด ข้อมูลที่เราใช้เป็นข้อมูลที่มีความละเอียดจึงมีราคาแพง อีกทั้งบุคลกรในด้านนี้ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ จึงเสนอให้สนับสนุนงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ขาด มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคลากรเดิมกับบุคลากรใหม่
ด้าน ดร.สุรชัย รัตนเสริมพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึงประโยชน์ในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและ GIS เพื่อการวางแผนภาคการเกษตร สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประโยชน์คือ คาดการณ์พื้นที่และผลผลิตพืชเศรษฐกิจของคู่แข่ง วางแผนบริหารการผลิตในประเทศ วางแผนการตลาดพืชเศรษฐกิจ การบริหารจัดการพื้นที่ การเกษตรที่อยู่ในเขตภัยพิบัติ (การเลือกพืชเพาะปลูกที่เหมาะสม) และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ด้าน รองศาสตราจารย์สิริกร กาญจนสุนทร ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ด้านบุคลากร ควรจัดคนให้ตรงกับงาน และใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ ควรทำงานวิจัยที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ อยากให้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย และในด้านกฎหมายในเรื่องการใช้ที่ดิน การใช้ที่ดินผิดประเภท เช่น การนำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งๆที่ที่ดินตรงนั้นเหมาะแก่การปลูกข้าว เป็นต้นด้าน รศ.ดร.ชรัตน์ มงคลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าควรทำงานให้รวดเร็ว เข้าถึง เราต้องศึกษารูปแบบจำลองต่างๆ เช่น รูปแบบจำลองนาข้าว ศึกษาความเหมาะสมของพืช การวางแผนการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
นอกจากนี้ในเวทีการสัมมนาได้เสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยสาระสำคัญคือ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง ด้านเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อพัฒนาเป็นระบบบริหารจัดการด้านการเกษตรที่สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ประสบความสำเร็จตรงกับความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป