กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางจีราวรรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแก่หน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมอีก 1 หน่วยงาน คือ กรมสรรพากร ทำให้ขณะนี้มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของหน่วยงานของรัฐ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมฯ แล้ว จำนวน 30 หน่วยงาน ส่วนหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่ได้จัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว คณะกรรมการธุรกรรมฯ จะพิจารณาดำเนินการใช้มาตรการในเชิงบริหารต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมฯ ยังได้กำหนดกลไกการติดตามและผลักดันหน่วยงานของรัฐในการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 โดยให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงของตน (Self - evaluation) เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาระบบสารสนเทศของหน่วยงานตนเอง พร้อมทั้งให้ส่งรายงานการประเมินความเสี่ยงของตนเองแก่คณะกรรมการธุรกรรมฯ เพื่อนำผลการประเมินฯ ดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการประสานงานกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศต่อไป
โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จัดทำแผนการเข้าตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อทำให้หน่วยงานของรัฐมีระบบสารสนเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้มีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านเครือข่าย ตามบัญชี ค (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 แก่ บริษัท เพย์เพด จำกัด ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ โดยจนถึงปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการไปแล้ว จำนวน 76 ราย แบ่งเป็นผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันทางการเงิน จำนวน 31 ราย และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันทางการเงิน จำนวน 45 ราย รวมใบอนุญาต จำนวน 115 ฉบับ
นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้เห็นชอบในหลักการให้มีการกำหนดขั้นตอนการพิจารณามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลักดันมาตรฐานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 (AEC 2015) โดยจะนำเอามาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานรับผิดชอบที่ต้องการให้มีผลบังคับใช้ มาเข้าสู่กระบวนการจัดทำเป็นประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป