กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สนพ.
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 12-17 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา ได้เดินทางเยือนประเทศบราซิลอย่างเป็นทางการ พร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ โดยกระทรวงพลังงานได้หารือกับนายหลุยส์ เฟอร์นันโด เฟอร์ลอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุน และนายมัวลิซิโอ ทิมโม โทมัสควิน รัฐมนตรีช่วยพลังงาน ถึงความร่วมมือในโครงการผลิตเอทานอลระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิล รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน นำโดย นายเอ็ดดูอาร์โด เด คาร์วาโยประธานสมาคมอุตสาหกรรมอ้อยแห่งมลรัฐ เซาเปาโล เข้าหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการใช้ก๊าซโซฮอล์อย่างจริงจัง โดยภายใน 2 เดือนนี้จะร่วมกันจัดประชุมปฏิบัติการด้านเทคนิคด้านเอทานอลขึ้นในไทย โดยฝ่ายบราซิลจะนำคณะผู้ประกอบการเอทานอล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาบรรยายถึงประสบการณ์ของบราซิล รวมทั้งแสดงนิทรรศการด้านเทคโนโลยี เอทานอลต่าง ๆ จากสมาคมชาวไร้อ้อย กลุ่มผู้ผลิตเอทานอล และบริษัทรถยนต์จากประเทศบราซิล โดยกระทรวงพลังงานจะรับหน้าที่ประสานงานในการเชิญชวนให้ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซโซฮอล์ในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประมาณ
1.2 แสนลิตรต่อวันนั้น และพบว่าโรงงานจะผลิตไม่ได้ทันตามความต้องการ ตนได้เจรจากับประเทศบราซิล ถึงการนำเข้าเอทานอลจากประเทศบราซิล เพื่อนำมาผสมในน้ำมันเบนซิน เป็นการชั่วคราวไว้ จนกว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งประเทศ บราซิลนับเป็นประเทศที่มีเอทานอลราคาถูกเพียง 8 บาทต่อลิตร โดยเป้าหมายของประเทศไทยจะใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินจาก 5 % เป็น 10 % ประมาณ
1.3 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2549 และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554
นอกจากนี้ ประเทศบราซิลยังสนใจที่จะร่วมทุนกับประเทศไทย ในการเป็นฐานผลิต เอทานอล เนื่องจากมีตลาดที่ต้องการขยายมายังภูมิภาคอาเซียน เช่นจีน เกาหลี และประเทศในกลุ่มอาเซียนปัจจุบัน บริษัทรถยนต์หลาย ๆ แห่งในบราซิลได้พัฒนาเครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่เรียกว่าเทคโนโลยี FlexFuels ที่สามารถใช้น้ำมันและเอทานอลในสัดส่วนผสมเท่าใดก็ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนในบราซิลสามารถเลือกเติมเชื้อเพลิงได้ตามต้องการ อีกทั้งรถยนต์ใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาโดยใช้เทคโนโลยีนี้มีราคาเท่ากับรถยนต์ธรรมดาในรุ่นและแบบเดียวกันอีกด้วยซึ่งเทคโนโลยี Flex Fuels นี้เป็นที่น่าสนใจในการขยายผลให้มีการใช้อย่างกว้างขวางในทวีปเอเชียต่อไป--จบ--
-นท-