กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 มิ.ย. 55 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 96.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) เฉลี่ยลดลง 3.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 99.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เฉลี่ยลดลง 2.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 84.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยปรับตัวลดลง 7.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 109.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 5.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 111.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- Fitch Ratings ประกาศปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Ratings) ของประเทศสเปน 3 ขั้น สู่ระดับ BBB และบ่งชี้ความเป็นไปได้ในการลดระดับความน่าเชื่อถือลงอีกในอนาคต (Negative Outlook)
- Markit Economics รายงาน Purchasing Managers’ Index (PMI) ดัชนีภาคการผลิตและการบริการของสหภาพยุโรปในเดือน พ.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อน 1.7 จุด อยู่ที่ 46 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีรายงานยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย. 55 ลดลงจากเดือนก่อน 1.9%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดการจ้างงานเดือน พ.ค. 55 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 77,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้น 69,000 ตำแหน่ง และกระทรวงพาณิชย์รายงานยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานในสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 55 ลดลง 0.6% จากเดือนก่อน และลดลง 2 เดือนติดต่อกัน
- OPEC ผลิตน้ำมันน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Reuters รายงาน OPEC ผลิตในเดือน พ.ค. 55 ที่ 31.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดตั้งแต่ พ.ศ. 2551) โดยซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับสูงกว่า 10 MMBD
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB) คงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 1% และประกาศพร้อมออกมาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไข หากปัญหาเศรษฐกิจของภูมิภาครุนแรงขึ้น
- ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง 0.25% อยู่ที่ 6.31% และ 3.25% ตามลำดับ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 55 ลดลง 0.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 384.6 ล้านบาร์เรล ลดลงครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Gasoline เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 203.5 ล้านบาร์เรล และ Distillates เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 120.0 ล้านบาร์เรล
- อิหร่านและอิรักประกาศจะร่วมมือผลักดันให้สมาชิกกลุ่ม OPEC ผลิตน้ำมันดิบตามโควต้า ซึ่งตกลงกันไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศต้องการรายได้จากการขายให้สูงเพียงพอต่อการใช้จ่ายของประเทศ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน OPEC ผลิตจริงปริมาณสูงกว่า 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปิดลดลง จากแรงกดดันของปัญหาในสหภาพยุโรป โดยสเปนร้องขอความช่วยเหลือทางด้านการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคาร ซึ่งหลายแห่งถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลงกว่า 3% อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 100-106 USD/BBL และ 83-90 USD/BBL ตามลำดับ โดยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปตกลงให้ความช่วยเหลือแก่สเปน ในวงเงิน 1 แสนล้านยูโร โดยสเปนจะจัดทำแผนการกู้ยืมภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สเปนเป็นชาติที่ 4 ในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก ECB และ IMF ส่งผลให้ทั้ง 2 องค์กรอนุมัติวงเงินเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหภาพยุโรป รวมอยู่ที่ 5 แสนล้านยูโร อีกทั้งทางการจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ค. 55 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้นการเจรจาระหว่าง IAEA และอิหร่าน เรื่องโครงการนิวเคลียร์ ไม่มีความคืบหน้า โดยไม่มีการนัดเจรจาในครั้งต่อไป ซึ่งความล้มเหลวครั้งนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดในการเจรจาระหว่าง P5+1 และอิหร่านในวันที่ 18-19 มิ.ย. 55 ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย