กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
ผลพวงเศรษฐกิจยุโรปถดถอย หนี้พุ่ง คนว่างงาน กำลังซื้อหด ส่งผลส่งออก 4 เดือนแรกไทยไปอิตาลีลด ทูตพาณิชย์อิตาลีเผยคนอิตาเลี่ยน หันมาทานอาหารกระป๋องมากขึ้น
นางปทมา สิงหรา ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เปิดเผยสถานการณ์เศรษฐกิจในอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) 27 ประเทศว่า เศรษฐกิจภายในประเทศอิตาลีอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยมีหนี้ยอดสาธารณะพุ่งถึง 1,946 พันล้านยูโร (มกราคม 2555) อิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้สาธารณะรายใหญ่ของโลก ประมาณ 120% ของจีดีพี ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ เกิดจากผู้ประกอบการในอิตาลีประสบภาวะอยู่ในระหว่างยื่นฟ้องล้มละลายมากกว่า 3,000 บริษัท ในขณะที่ตัวเลขของธุรกิจที่ปิดตัวลงไปนั้น ยังคงสูง สถิติตั้งแต่ปี 2552 จนถึงล่าสุดพบว่า บริษัทภาคเหนือของอิตาลีปิดตัวลงไปกว่า 17,000 บริษัท
“ตั้งแต่เริ่มมีวิกฤตเศรษฐกิจโลกประมาณปี 2552 จนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ มีคนว่างงาน 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 หรือ เพิ่มขึ้น 23.7 % เงินเฟ้อ ในเดือนเมษายน 55 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 3.3 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยในเดือนเมษายนนี้พบว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วถึง 20.9 % ซึ่งป็นราคาที่พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2536”นางปทมา กล่าวและว่า สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อกำลังความต้องการซื้อภายในประเทศลดต่ำลง ทำให้การส่งออกของไทยไปอิตาลีในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค. — เม.ย.) ของปี 2555 ลดลง 27% โดยไทยส่งออกมายังอิตาลีทั้งสิ้น 503 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นางปทมา ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการส่งออกลดลงของสินค้าไทยในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับว่า นอกจากสาเหตุข้างต้นที่มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคแล้ว สินค้าอัญมณีฯยังจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟื่อยและมีราคาแพง อีกทั้งผู้บริโภคอิตาลี นิยมซื้อในโอกาสพิเศษและเทศกาล เช่น คริสต์มาส วันวาเลนไทน์ และการฉลองทางศาสนาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลงในภาวะเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งผู้ประกอบของอิตาลีตั้งราคาขายสูง จำเป็นต้องลดกำไรลงบ้าง เพื่อรักษาฐานลูกค้าระดับกลาง เป็นต้น
สินค้าเครื่องปรับอากาศ เป็นสินค้าที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในอิตาลีมีความแปรปรวนของสภาพอากาศมากขึ้น ผู้บริโภคจะหาซื้อในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนมากๆ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและระดับรายได้ที่ไม่แน่นอน ผู้บริโภคจึงมองว่า เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น ประกอบกับบริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศในอิตาลี ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังจีนมากขึ้น ทำให้จีนครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง
สินค้าปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง มีการส่งออกลดลงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ส่งผลต่อรูปแบบการซื้อสินค้าของคนอิตาเลี่ยน และผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารกระป๋องและสินค้าอาหารที่มีราคาถูกลง รวมถึงหาซื้อได้ง่าย ความสะดวกต่อการรับประทานและประหยัดเวลา แม้ว่าความต้องการภายในประเทศค่อนข้างคงที่ แต่ผู้บริโภคอิตาลีได้ลดความถี่และค่าเฉลี่ยในการซื้ออาหารต่อครั้งลง ทั้งนี้ คนอิตาเลี่ยนหันกลับมาทานพาสต้ามากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว จึงต้องกินอาหารดั้งเดิมและราคาถูกบ่อยขึ้นแทน ทำให้มูลค่าการค้าพาสต้าเพิ่มขึ้น 4.7% ในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค. 2555) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปลา/ปลาหมึก/กุ้ง สด แช่เย็น แช่แข็ง เนื่องจากคนอิตาเลี่ยนนิยมรับประทานอาหารเบาๆ ในช่วงฤดูร้อน เช่น สลัดทูน่า เป็นต้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจถดถอยคนอิตาเลี่ยนต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงหันมาซื้อปลากระป๋องมากขึ้นด้วย นอกจากนี้รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมีแนวโน้มดี เนื่องจากเข้าฤดูใบไม้ผลิและอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้คน อิตาเลี่ยนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของอิตาลีให้ความสำคัญต่อการคมนาคมด้วยการใช้จักรยาน เนื่องจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปต่างระดมกองทุน เพื่อโครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการเดินทาง โดยรถจักรยานเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลดีด้านเศรษฐกิจด้วย
สินค้าไทยส่งออกลดลง 5 อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-11%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-24%) ยางพารา 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-50%) ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(-17%) อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป28ล้านเหรียญสหรัฐฯ (77%)
ด้านการนำเข้าไทยนำเข้าสินค้าจากอิตาลีในช่วง 4 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 685 เพิ่มขึ้น 9.5% โดยสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 158 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.6%) ผลิตภัณฑ์โลหะ 123 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(183%) เคมีภัณฑ์ 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(-26%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (59%) และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(-8%)