ช่องทางหารายได้ ในภาวะข้าวยากหมากแพง

ข่าวทั่วไป Tuesday June 12, 2012 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--โอเคแมส ในยุคข้าวยากหมากแพง เป็นเหตุให้หลายคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ซึ่งนอกจากการทำงานประจำแล้วยังหารายได้พิเศษให้เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนต้องการประกอบธุรกิจส่วนตัว เพื่อหวังผลกำไรระยะยาว ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการวิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นผลิตบัณฑิตสู่โลกอาชีพ พร้อมบูรณาการการเรียนการสอน รวมทั้งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมด้วย รศ.ดวงสุดา เตโชติรส อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจไทยโดยทั่วไป ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และราคาน้ำมันดิบที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ จากนโนบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กำหนดให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท ผู้จบปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ทำให้แรงงานและผู้จ้างแรงงานมีต้นทุนสูงขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจบางธุรกิจที่จำต้องควบคุมต้นทุน เช่น ธุรกิจอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ก่อสร้าง โรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการผลิตภายในประเทศและการส่งออก การขาดแคลนสินค้าในภาคเกษตรและวัตถุดิบที่เกิดจากความเสียหายของเครื่องจักรผลิต ดังนั้น ในส่วนของ มทร.พระนคร ซึ่งมีคณะบริหารธุรกิจที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและมีนโยบายให้บริการข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงมอบหมายให้คณบดีคณะบริหารธุรกิจ คือ ผศ.วราพันธ์ มุ่งวิชา ให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านสื่อ” รศ.ดวงสุดา กล่าว ผศ.วราพันธ์ มุ่งวิชา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า “จากรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยปี 2554 โดยการฟื้นฟูในกลุ่มก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เครื่องจักรภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ระหว่างร้อยละ 4.5 — 5.5 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5 ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนทำให้เกิดการไหลของแรงงานต่างชาติเข้ามาที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขการว่างงานในปีนี้จะอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.6 -0.8 แต่ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาสินค้าโดยทั่วไปปรับราคาแพงขึ้นยิ่งนำมาซึ่งการย้ายฐานการผลิต ปัญหาด้านการเมืองและภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เป็นปัจจัยเสริมให้เศรษฐกิจมีความอ่อนไหวสูง จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะมีทิศทางดีขึ้น การขยายตัวมากขึ้นอาจลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีทิศทางดีในด้านการขยายตัวด้านโทรคมนาคม จากโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง 3 โครงการใหญ่ใน 10 ปีข้างหน้า คือสายแรก สายปักกิ่ง-ลอนดอน และปักกิ่ง-สิงคโปร์ สายที่สอง สายมาเลเซีย ไทย เขมร เวียดนาม พม่าและ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน สายที่สาม สายยุโรปตะวันออก เยอรมนี สหภาพยุโรป ซึ่งยังคงมีเส้นทางใหญ่ที่อยู่ในแผนของประเทศจีนและยุโรปอีก 2 เส้นทาง ซึ่งในระยะยาวแล้วเศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีก” ผศ.วราพันธ์ กล่าว ผศ.วราพันธ์ มุ่งวิชา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทธุรกิจที่น่าสนใจในการลงทุนในช่วงนี้ ว่า “ปัจจุบันประชาชนมีความต้องการด้านเครื่องมือสื่อสารหรือ IT มากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนของภาครัฐในระดับนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาระบบขนส่ง ประปา ไฟฟ้าให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงเพียงพอ พัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมือง+หัวเมืองหลัก และการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แทบเลตให้แก่นักเรียนในโรงเรียนนำร่อง ฯลฯ ในขณะที่ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งการเก็งกำไร การซื้อที่ดินสำรองจากการคาดการณ์ภาวะน้ำท่วมในบริเวณต่างจังหวัด ชานเมือง และหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งการคาดการณ์ที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมต่อไปในอนาคต ส่วนการซ่อมแซมและการซ่อมบำรุง วัสดุก่อสร้าง แรงงานการก่อสร้างยังคงเป็นที่ต้องการ แต่ในภาพรวมแล้วเกิดการขาดแคลนทั้งวัสดุ แรงงานทั้งไร้ฝีมือและแรงงานฝีมือ ู ใ นอกจากนี้ธุรกิจ SME ยังเป็นที่นิยม เช่น ธุรกิจการบริการด้านความงาม เครื่องสำอาง การดูแลสุขภาพ เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ ผศ.วราพันธ์ เปิดเผยว่า “ธุรกิจค้าปลีกรายย่อย และธุรกิจที่มีต้นทุนแรงงานสูง หรือต้องใช้แรงงานจำนวนมาก สินค้าที่ต้องพึ่งพาราคาน้ำมัน เพราะการขนส่งสินค้าที่มีราคาต่ำจะได้รับความนิยมจากประเทศจีน แต่กรณีที่สามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ก็จะส่งผลให้ธุรกิจคงอยู่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการและธุรกิจผลิตขั้นพื้นฐานทั่วไป ส่วนแนวโน้มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงคือ ธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ร้านค้าปลีกรายย่อยที่ยังคงต้องพัฒนาทั้งรูปแบบร้าน การให้บริการ อาหารและวัฒนธรรม การพัฒนาและปรับเปลี่ยนหน้าร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า สินค้าพื้นบ้าน ไอศกรีมโบราณที่ราคาถูกแต่ไม่ได้รับความนิยม รวมไปถึงสินค้าที่แข่งขันด้วยเทคโนโลยีและความทันสมัย สินค้า SME ที่ยังคงต้องมีการปรับรูปแบบทั้งรูปลักษณ์ ความทันสมัย ระบบการขาย การจัดหน้าร้าน ฯลฯ “ส่วนธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ยังคงเป็นธุรกิจรายใหญ่ เพราะจะให้ความสำคัญกับการวิจัย การเก็บตัวเลขการซื้อสินค้าของผู้บริโภค นอกจากนี้ธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างก็จะมีการขยายตัวในกลุ่มชานเมือง รวมทั้งร้านอาหารที่เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งพบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่นิยมอยู่ตามเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในแต่ละเขตและแต่ท้องถิ่นจะมีข้อจำกัด จุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน ดังนั้นปัจจัยพื้นฐาน หรือปัจจัยสี่ ยังคงเป็นที่ต้องการ แต่ข้อสำคัญคือ การหาข้อมูลความต้องการลูกค้า คือ 7 คำถามหลัก 6W + 1H คือ: Who What When Where Why Whom และ How จะช่วยให้การลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้น” ผศ.วราพันธ์ กล่าว นอกจากนี้ ผศ.วราพันธ์ ยังได้แนะนำวิธีการเลือกลงทุนและวิธีการสำรวจตลาดให้กับนักลงทุนมือใหม่ด้วย ว่า ขั้นแรกให้คิดหาสินค้าที่อยากจะลงทุนก่อน รวบรวมข้อมูลและนำไปทดลองถามความคิดเห็นของผู้ที่น่าจะมาเป็นลูกค้าเป้าหมาย แล้วจึงจัดหาข้อมูลในทุกๆ ด้านตั้งแต่ การตลาด การเงิน โอกาสทำกำไร และความต้องการกำไรในอนาคต ที่สำคัญจะต้องประมาณการต้นทุน รายรับรายจ่ายและความน่าจะเป็นในการลงทุน จากนั้นทดลองผลิต พร้อมประมวลผลและผลิตจริง แต่สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการลงทุนแล้วยังไม่มีข้อมูลเลย อันนี้คงต้องอาศัยใจรักและมีการมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง” “อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง ฉะนั้นผู้ลงทุนทุกท่านจะต้องมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ถ้าไม่มีความรู้ต้องทำ Feasibility Study หมายถึง การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน กล่าวคือ การหาข้อมูล เช่น การหาความรู้จากการอ่าน การวิเคราะห์วิจารณ์ธุรกิจทั้งอย่างทางการและไม่ใช่ทางการ การหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต การสอบถามด้วยตนเองจากหลายกระแสที่มีความรู้จริงหรือรู้มากกว่า เพื่อประมวลภาพอย่างกว้าง ที่สำคัญคือศึกษาระบบการขอสินเชื่อจากทางธนาคารพาณิชย์ จากนั้นคือการเตรียมความพร้อมด้าน กำลังคน เงิน วัตถุดิบ และความรู้ด้านการจัดการ หลังจากวิเคราะห์ความพร้อมในทุกด้านแล้ว คงถึงขั้นลงมือซึ่งทางที่ดีที่สุดคือลงทุนแต่ขั้นทดลองก่อนแล้วจึงขยายคงจะเป็นหลักการที่ไม่น่าจะผิดพลาดมากนัก กรณีที่เราคาดการณ์ผิดไป” ผศ.วราพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โอเคแมส จำกัด คุณวิจิตรา รุจิเพ็ชร์ (ลูกหยี) โทร 0-2618-7781-4 ต่อ 109 คุณกรกนกภรณ์ โสภาบุญ (แจม) โทร. 0-2618-7781-4 ต่อ 105

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ