กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี( FTA) รวมถึงการเปิดเสรีอาเซียน(AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยสินค้าส่วนใหญ่มีการลดภาษีมาอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะเป็นศูนย์ทุกรายการอยู่แล้ว ดังนั้นกำแพงภาษีจึงไม่น่าจะไม่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยอีกต่อไป ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เราจึงควรพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่จะสร้างแต้มต่อให้กับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการเจรจาเพื่อผ่อนคลายกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา กฎแหล่งกำเนิดสำหรับสินค้าหลาย ๆรายการยังมีปัญหาเรื่องความซับซ้อน ปฎิบัติตามได้ยาก หรือหากปฎิบัติตามก็จะเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการหลายรายจึงไม่อยากใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ที่ไทยมีอยู่
จากงานวิจัยเรื่องความเข้มงวดของกฎแหล่งกำเนิดสินค้ากับการใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งคณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ภาคีข้อตกลงการค้าเสรี 4 ข้อตกลง (ข้อตกลง AFTA, ข้อตกลง JTEPA, ข้อตกลงอาเซียน-จีน, ข้อตกลงไทย-ออสเตรเลีย) ณ ปี 2553 มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติและการสร้างสถานการณ์นโยบายจำลองในรูปแบบต่าง ๆ โดยได้ทำการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระหว่างผลที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการลดภาษีเป็นศูนย์ในสินค้าทุกรายการ กับการคงภาษีที่อัตราเดิมแต่มีการเจรจาเพื่อผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎแหล่งกำเนิด คณะผู้วิจัยพบว่าอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA จะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3% หากมีการลดภาษีในสินค้าทุกรายการให้เป็นศูนย์ แต่หากใช้การเจรจาเพื่อผ่อนคลายกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (ให้กฎแหล่งกำเนิดง่ายต่อการปฎิบัติตามมากขึ้น) จะสามารถเพิ่มอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ได้มากกว่าหลายเท่า และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเกือบทุก FTA น่าจะมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น 10-20% ของภาษีที่ไทยประหยัดได้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้การผ่อนคลายกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสามารถทำได้หลายวิธี และสามารถใช้ได้กับกฎที่มีความเข้มงวดมากไปจนถึงเข้มงวดน้อย และวิธีการเหล่านี้สามารถใช้กับรายการสินค้าสำคัญ ๆ ในเกือบทุกสาขาอุตสาหกรรมเช่น อาหาร ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พลาสติก ยาง และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยรูปแบบการผ่อนคลายกฎแหล่งกำเนิดสามารถทำได้ 3 ทางเลือกใหญ่ ๆ คือ 1. การเปลี่ยนประเภทกฎแหล่งกำเนิดให้ง่ายขึ้น 2. การยกเลิกเงื่อนไขบางอยางในกฎแหล่งกำเนิดที่ซับซ้อน 3. การเพิ่มทางเลือกเรื่องกฎแหล่งกำเนิดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะปฎิบัติตามกฎแหล่งกำเนิดที่ตนสามารถดำเนินการได้ด้วยต้นทุนต่ำสุด
ผลของงานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การเจรจาเพื่อผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎแหล่งกำเนิด นอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มการใช้สิทธิประโยชน์แล้ว ยังน่าจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ